เศรษฐกิจ

หอการค้าไทยเชื่อนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท กระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความมั่นคงให้ประชาชน

โดย gamonthip_s

9 ต.ค. 2566

118 views

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ และธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังเชื่อว่า นโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความมั่นคงให้กับประชาชน และลดปัญหาหนี้ครัวเรือนได้ แต่ขึ้นอยู่กับการออกแบบ นโยบายและข้อกำหนดในการใช้จ่าย เช่นการสนับสนุนให้ใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศไทยหรือวัตถุดิบจากภายในประเทศ เพื่อให้เงินหมุนได้หลายรอบ ที่สำคัญคือ ส่งเสริมให้นำเงินไปซื้ออุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการทำมาหากิน แม้จะไม่ใช่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภค แต่ถือเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานภาคครัวเรือน



ซึ่งมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้ทำผลสำรวจไปแล้วพบว่า ประชาชนในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยยังคงต้องการนโยบายนี้ พร้อมข้อเสนอแนะในการทบทวนรัศมีในการใช้จ่าย รวมถึงการกันเงิน 1 แสนล้านบาท เพื่อลงทุนโครงการบริหารจัดการน้ำรองรับเอลนีโญด้วย อย่างไรก็ตามเข้าใจความห่วงใยของนักเศรษฐศาสตร์ ที่กังวลกับการหมุนของตัวคูณทางเศรษฐกิจ อีกทั้งมองว่าเศรษฐกิจได้ฟื้นตัวด้วยการบริโภคอยู่แล้ว หากไปเพิ่มการบริโภคอีก อาจส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ รวมทั้งการกู้เงินมาทำโครงการจะยิ่งเป็นตัวเร่งให้ดอกเบี้ยในตลาดสูงขึ้น และเป็นภาระในอนาคต บวกกับกังวลเรื่องวินัยการคลัง เพราะหนี้สาธารณะสูงอยู่แล้ว ซึ่งเรื่องนี้มองว่าเป็นปัญหาไก่กับไข่ และการทำนโยบายเป็นเรื่องของรัฐศาสตร์ เป็นเรื่องของการเมือง นัยยะทางการเมืองยืนยันว่าทำ เพราะเป็นนโยบายที่หาเสียงไว้แต่แรก เชื่อว่ารัฐบาลจะรับฟังและนำไปปรับปรุงเพื่อให้นโยบายออกมาคุ้มค่าที่สุด



ขณะที่ผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนกันยายน 2566 ปรับตัวจากระดับ 56.9 เป็น 58.7 เป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 สูงสุดในรอบ 42 เดือน นับตั้งแต่ มี.ค. 63 เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความเชื่อมั่นหลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ และรัฐบาลจัดทำนโยบายลดค่าครองชีพ โดยลดค่าไฟฟ้า และค่าน้ำมัน ตลอดจนมีนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ นอกจากนี้ผู้บริโภคเห็นว่าการเมืองไทยจะมีเสถียรภาพมากขึ้นในอนาคต หลังจากที่มีการจัดตั้งรัฐบาลสลายขั้วการเมืองต่าง ๆ ที่มีความเห็นแตกต่างกันโดยที่ความขัดแย้งทางการเมืองน่าจะคลี่คลายลง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ อย่างไรก็ตามผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ตลอดจนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ที่อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งส่งผลลบต่อการส่งออกของไทยทำให้การส่งออกในช่วงนี้หดตัวลง และมีผลกระทบในเชิงลบต่อกำลังซื้อของประชาชนในทุกภูมิภาค



ส่วนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากระดับ 41.7 เป็น 42.9 และดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เช่นเดียวกัน โดยปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 64.2 มาอยู่ที่ระดับ 66.3

คุณอาจสนใจ

Related News