สังคม

"นายหน้า" แฉวงการส่วยรถบรรทุก บอกมีสติกเกอร์ไม่ได้แปลว่าไม่ถูกจับ แต่รับรองเคลียร์ได้ตั้งแต่ตำรวจถึงอัยการ

โดย paranee_s

1 มิ.ย. 2566

161 views

ความคืบหน้าเรื่องส่วยสติกเกอร์ ตอนนี้ทั้งตำรวจ ผู้ประกอบการ คนขับรถบรรทุก ต่างออกมายอมรับว่ามี "ส่วย" จริง


วันนี้ (1 พ.ค.) ทีมข่าวอาชญากรรมได้พูดคุยกับ "นายหน้า" ตัวกลางรับเคลียร์เงินของขบวนการนี้ บอกว่าการมีสติกเกอร์ไม่ได้แปลว่าไม่ถูกจับ แต่รับรองได้ว่าเคลียร์ได้ตั้งแต่ตำรวจถึงอัยการ


แหล่งข่าวรายนี้อยู่ในแวดวงธุรกิจรถบรรทุกมานานกว่า 40 ปี เปิดเผยว่า ส่วยสติกเกอร์เริ่มกระจายอย่างแพร่หลายตั้งแต่ปี 2540 หรือช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง เพราะรถบรรทุกส่วนใหญ่จะซื้อผ่านไฟแนนซ์ เมื่อไฟแนนซ์ล้ม คนที่ซื้อรถบรรทุกก็ไม่มีเล่มทะเบียน ทำให้ไปต่อภาษีไม่ได้ จึงเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการบางคนที่มีเล่มทะเบียนรถ นำเอกสารมาซีร็อกแล้วขายให้กับผู้ประกอบการรถบรรทุกคันอื่นๆ ที่ไม่ได้ต่อภาษี หวังว่าจะตบตาตำรวจ เพราะเมื่อก่อนหมึกที่ใช้ถ่ายเอกสารจะจางทำให้ตรวจสอบยาก


แต่สุดท้ายตำรวจรู้ทัน ทำให้ผู้ประกอบการต้องยอมจ่ายเงิน เพื่อให้วิ่งรถได้ นั่นจึงเป็นที่มาของ "ส่วยสติกเกอร์" ซึ่งสามารถเคลียร์ได้กับทุกความผิดที่เกิดขึ้น


โดยราคาที่ขายสติกเกอร์ จะอยู่ที่ประมาณคันละ 1,500-3,000 บาทต่อเดือน ซึ่งราคาจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับออฟชันการดูแลของคนกลาง เพราะการซื้อสติกเกอร์ไม่ได้แปลว่าไม่ถูกจับ แต่มันคือการรับประกันว่าเมื่อทำผิดแล้วถูกจับดำเนินคดี จะสามารถช่วยจัดการเคลียร์ให้ได้ ตั้งแต่ชั้นจับกุมไปจนถึงอัยการ


หากเปรียบเทียบก็เหมือนกับการซื้อประกันภัยจะซื้อเจ้าไหน ประกันภัยชั้น 1 ชั้น 2 หรือ ชั้น 3 ราคาและความดูแลก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละเจ้า นายหน้าบางคนรู้จักคนเยอะ บริการหลังการขายดี ข้อเสนอดี ก็จะยิ่งมีคนมาซื้อเยอะ โดยแต่ละเดือนขายได้มากสุดถึง 300-400 คันต่อเดือน


ส่วนเงินที่ได้จากผู้ประกอบการรถบรรทุกจะรวบรวมไปจ่ายให้กับ "ขาใหญ่" อีกที ซึ่ง "ขาใหญ่" คนนี้ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ แต่มีพาวเวอร์ที่จะสามารถไปเคลียร์กับเจ้าหน้าที่ได้ ซึ่ง "ขาใหญ่" จะนำเงินทั้งหมดที่ได้มาเฉลี่ยว่า ในแต่ละเดือนต้องแบ่งไปเคลียร์ให้กับพื้นที่แต่ละภาค เพราะแต่ละเดือนนั้น ปริมาณรถที่วิ่งในแต่ละภาคจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับปริมาณผลผลิตที่แตกต่างกันไปตามฤดูกาล แต่หน่วยงานหลัก ๆ ที่ "ขาใหญ่" ต้องนำเงินไปส่ง คือ ตำรวจทางหลวง, ตำรวจภูธร, อบจ. และ อบต. ด้วย ขึ้นอยู่กับว่าถนนเส้นที่ต้องวิ่งผ่านทั้งหมดอยู่ในอำนาจการดูแลของหน่วยงานไหนบ้างต้องจ่ายเพื่อเคลียร์ทางทั้งหมด


ส่วนความคืบหน้าหลังจากที่ พลตำรวจตรี จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผู้บังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ มารักษาราชการแทนผู้บังคับการตำรวจทางหลวง ล่าสุดเซ็นคำสั่งยกเลิก "หน่วยเฉพาะกิจที่ดูแลเรื่องของรถบรรทุกหนักทั่วประเทศ" ที่แต่งตั้งมาจากผู้บังคับการตำรวจทางหลวงคนก่อน เพราะมองว่าการทำงานของชุดเฉพาะกิจ คือ "ปัญหา" เพราะทำงานทับซ้อนกับตำรวจทางหลวงในแต่ละพื้นที่


และมีรายงานว่าในการประชุมกำหนดนโยบายร่วมกับตำรวจทางหลวงเมื่อวานนี้ ได้มีตำรวจทางหลวงนายหนึ่ง ร้องไห้กลางที่ประชุม หลังเปิดโอกาสให้ตำรวจได้พูดความในใจ ซึ่งตำรวจคนดังกล่าว พูดทั้งน้ำตาว่า "รู้สึกอึดอัดกับการทำงานที่ผ่านมา"

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ