สังคม

ไฮไลต์ฟุตบอลโลก2022 โครเอเชีย-โมร็อกโก สร้างประวัติศาสตร์ แม้ไม่ได้ชิงแชมป์

โดย panwilai_c

18 ธ.ค. 2565

306 views

ฟุตบอลโลก ครั้งนี้ ชาติเล็กๆอย่าง โมร็อกโก และ โครเอเชีย แม้จะไม่ได้เข้าชิงชนะเลิศ แต่ก็ได้สร้างประวัติศาสตร์ให้กับตัวเอง ขณะที่ประธานฟีฟ่า มองว่า ฟุตบอลโลก ที่กาตาร์ ยอดเยี่ยมที่สุด แม้ว่าจะใช้เงินทุ่มงบประมาณมหาศาล ก็ตาม



ฟุตบอลโลก นัดชิงอันดับ 3 ที่สนามคาลิฟา โครเอเชียได้ประตูขึ้นนำ โมร็อกโก ตั้งแต่นาทีที่ 7 ลูก้า โมดริช เปิดฟรีคิกเข้าเขตโทษ อิวาน เปริซิชโขกต่อให้ ยอสโก้ กวาร์ดิออล พุ่งโหม่งเข้าประตูไป แต่ถัดมาแค่ 2 นาที โมร็อกโกตีเสมอได้ทันควัน จากการโขกหน้าปากประตูของ อาชราฟ ดารี โครเอเชียบุกขึ้นมาชุดใหญ่ ก่อนบอลจะไปถึง มิสลาฟ ออร์ซิช ปั่นโค้งๆ ชนเสาเข้าประตูให้ทีมตาหมากรุกขึ้นนำ 2-1 ครึ่งหลังโมร็อกโก โหมบุกแต่ไม่มีประตูจบเกม โครเอเชีย ชนะ โมร็อกโก 2-1 คว้าอันดับ 3 ไปครอง



แฟนบอลโครเอเชีย ภูมิใจกับทีมชาติของตัวเอง หลังเข้ารอบรองชนะเลิศ 2 สมัยซ้อน ครั้งก่อนทะลุถึงรอบชิง แพ้ ฝรั่งเศส 2-4 ได้รองแชมป์ และครั้งนี้ เป็นอันดับ 3 ครั้งที่สองของโครเอเชีย ต่อจากปี 1998 สำหรับโครเอเชีย เป็นประเทศเล็กๆ มีประชากรราว 4 ล้านคน แต่ก็ประสบความสำเร็จในฟุตบอลโลก หลังแยกตัวมาจากยูโกสลาเวียใน ปี 1991 และปีนี้ล้มบราซิล ได้ในรอบ 8 ทีม ถื เป็นเกียรติประวัติของชาติ



ทางด้านโมร็อกโก ไม่มีอะไรต้องเสียใจ พวกเขาเป็นทีมแอฟริกาทีมแรก ที่เข้าถึงรอบรองชนะเลิศ กุนซือวาลิด หวังว่า ผลงานการคว้าอันดับ 4 จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนโมร็อกโก ทั่วโลก เพื่อเดินรอยตามรุ่นพี่ อย่าง อาชราฟ ฮาคิมี่ ที่ค้าแข้งกับทีมใหญ่อย่างปารีส และอีกหลายๆคนที่อยู่กับทีมใหญ่ในยุโรป



ขณะที่ จานนี อินฟานติโน ประธานสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือฟีฟ่า บอกว่า ฟุตบอลโลก กาตาร์ เป็นฟุตบอลโลกที่ดีที่สุดเท่าที่มีมา เห็นได้จากรอบแบ่งกลุ่ม 32 ทีม การแข่งขันเข้มข้นสูสีที่สุดในประวัติศาสตร์ บ่งบอกว่า ฟุตบอลกำลังจะกลายเป็นกีฬาที่ทั่วโลกพัฒนาขึ้นมาสู้กันได้แบบสูสีกว่าเดิม และจะไม่มีคำว่า ทีมเล็กในฟุตบอลโลกอีกต่อไป



กาตาร์ชาติตะวันออกกลางชาติแรก ที่เป็นเจ้าภาพบอลโลก ได้นักท่องเที่ยวเข้ามาเกิน 1 ล้านคน โดยในรอบแบ่งกลุ่มปีนี้มีผู้ชมเข้าชมแต่ละสนามเฉลี่ย 51,000 คน สร้างรายได้ในหลายภาคส่วน ในขณะที่ กาตาร์ ก็เป็นชาติเจ้าภาพที่ทุ่มงบประมาณสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ฟุตบอลโลก นับจากปี 1930 ราว 2.2 แสนล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 8 ล้านล้านบาท สำหรับสร้างสนามแข่ง โครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาอื่น ๆ เทียบกับรัสเซีย เจ้าภาพปี 2018 ที่ใช้ไป 16,000 ล้านดอลลาร์ และบราซิล เจ้าภาพปี 2014 ใช้ไป 19,700 ล้านดอลลาร์



สำหรับฟุตบอลโลกครั้งต่อไป จะเป็นครั้งแรกที่มีเจ้าภาพร่วม 3 ประเทศ สหรัฐ เม็กซิโก และแคนาดา ในปี 2026

คุณอาจสนใจ

Related News