อาชญากรรม
กรมสุขภาพจิตระดมทีม ตั้งศูนย์เยียวยาจิตใจครอบครัวผู้สูญเสีย วิตกกังวลเหตุกราดยิง
โดย JitrarutP
7 ต.ค. 2565
35 views
กรมสุขภาพจิตระดมทีม ตั้งศูนย์เยียวยาจิตใจผู้ประสบเหตุ ที่ อบต.อุทัยสวรรรค์ หลังพูดคุยกับ 37 ครอบครัวที่สูญเสียแล้วพบว่า ยังวิตกกังวลกับเหตุกราดยิง
บรรยากาศที่ อบต.อุทัยสวรรค์ กรมสุขภาพจิตได้ระดมทีมงานสหวิชาชีพกว่า 60 คน ทั้ง จิตแพทย์, หมอ, พยาบาล และ นักสังคมสงเคราะห์ ตั้งโต๊ะรับคำปรึกษาผู้ประสบเหตุ
โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ
กลุ่มที่ 1 คือ ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น ญาติและครอบครัวผู้เสียชีวิต
กลุ่มที่ 2 คือ ผู้ที่เห็นหรืออยู่ในเหตุการณ์
กลุ่มที่ 3 คือ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในเหตุการณ์ เช่น ตำรวจ, กู้ภัยฯ, และ ผู้สื่อข่าว
โดยทีมเยียวยาจิตใจจะปักหลักในพื้นที่ 2 สัปดาห์ แบ่งกลุ่มลงพื้นที่สำรวจสภาพจิตใจ ให้คำปรึกษาฟื้นฟูสภาพจิตใจทั้งระยะสั้น และ ระยะยาว
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ตั้งแต่ลงพื้นที่เมื่อวานนี้ ทีมสุขภาพจิตได้พูดคุยและประเมินสภาพจิตใจของครอบครัว ผู้สูญเสียทั้ง 37 ครอบครัวแล้ว ส่วนใหญ่พบอยู่ในภาวะโศกเศร้า และมีความกังวลกับเหตุการณ์นี้
ล่าสุดวันนี้ได้จัดตั้งศูนย์เยียวยาจิตใจ ที่อบต.อุทัยสวรรรค์ เพื่อเปิดให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามาขอรับคำปรึกษา ประเมินสภาพจิตใจ เนื่องจากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในชุมชนที่มีความสนิทสนมกันและรู้จักกันเป็นวงกว้าง
หลังจากนี้จะประเมินสภาพจิตใจคนในชุมชนมากกว่า 1 เดือน เพราะอาจมีภาวะทางจิตใจที่ซ่อนเร้น เช่นความรู้สึกผิดต่อเหตุการณ์ที่ไม่สามารถปกป้องคนในชุมชนได้ รวมถึงวิตกต่อเหตุรุนแรงจนนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า
กรมสุขภาพจิต มีคำแนะนำสำหรับผู้ใหญ่ดูแลเด็กเล็ก ที่มีความเสี่ยงภาวะเครียดหลังเหตุรุนแรง แบ่งเป็นสิ่งที่ควรนำ และไม่ควรทำ ได้แก่
สิ่งที่ไม่ควรทำ คือ ไม่ถามเด็กให้เล่าถึงเหตุการณ์ งดเอาเด็กออกข่าว เสพข่าว
ส่วนสิ่งที่ควรทำ คือ รีบให้เด็กกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ขณะที่ผู้ใหญ่ควรจัดการอารมณ์ตนเองเป็นต้นแบบ และพาเด็กทำกิจกรรมผ่อนคลาย
สำหรับเด็กเล็ก ข้อควรรู้ คือ เด็กไม่สามารถสื่อสารอารมณ์ความเครียดได้เท่าผู้ใหญ่ และเด็กซึมซับ พฤติกรรมเลียนแบบเร็วกว่าผู้ใหญ่หลายเท่า
ส่วนสัญญาณเตือน เด็กจะงอแงง่าย แยกตัวไม่อยากไปโรงเรียน นอนไม่หลับ ฝันร้าย หวาดผวา กลัวการแยกจากผู้ปกครอง