เศรษฐกิจ

กทม.สั่ง 50 เขต สำรวจที่ดินตามโซนผังเมือง จ่อเก็บภาษีที่ดินเกษตรกรรม 0.15% เต็มเพดาน

โดย passamon_a

21 ส.ค. 2565

35 views

มติชนออนไลน์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 21 ส.ค.65 แหล่งข่าวจากศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ผู้บริหาร กทม. สั่งให้สำนักงานเขต 50 แห่ง สำรวจแปลงที่ดินที่ใช้ประโยชน์เป็นเกษตรกรรมทั้งหมด ในที่ดินตามแผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินหรือตามโซนของกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง ได้แก่ ที่ดินประเภทพาณิชยกรรม (โซนสีแดง) ที่ดินประเภทอุตสาหกรรม (โซนสีม่วง) ที่ดินประเภทคลังสินค้า (โซนสีเม็ดมะปราง) และที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (โซนสีน้ำตาล)


เพื่อเป็นข้อมูลให้สำนักการคลัง จัดทำข้อมูลเปรียบเทียบรายได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หากมีการคิดอัตราภาษีเพิ่มขึ้น โดยขอให้สำนักงานเขตจัดส่งข้อมูลภายในวันที่ 30 กันยายนนี้


แหล่งข่าวระบุว่า กทม. มีนโยบายจัดเก็บภาษีในอัตราภาษีที่สูงกว่าอัตราที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา เพื่อให้มีความเหมาะสมกับการใช้ประโยชน์ที่ดินตามกฎหมายผังเมือง เช่น มีที่ดินอยู่โซนสีแดง แต่นำมาปลูกกล้วย มะม่วง มะนาว เพื่อให้เข้าเกณฑ์ภาษีที่ดินเกษตรกรรม และจ่ายอัตราภาษีในอัตราที่ถูกลง ถือว่าเป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินไม่ถูกที่ถูกทาง แม้ว่ากฎหมายจะเปิดช่องให้ดำเนินการได้ก็ตาม ทั้งนี้ เพื่อให้ กทม. เก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น จึงจะขอสภา กทม. ออกข้อบัญญัติกำหนดอัตราภาษีที่ดินบางประเภทใหม่ แต่ไม่เกินเพดานที่กฎหมายกำหนด


สำนักการคลัง กทม. ได้ยกร่างข้อบัญญัติ กทม. เรื่อง กำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. … เพิ่มอัตราภาษีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม จำนวน 3 ประเภท ได้แก่ ที่ดินประเภทพาณิชยกรรม ประเภทอุตสาหกรรม และประเภทคลังสินค้า ตามกฎหมายผังเมืองที่ใช้ในเขตกรุงเทพฯ เป็น 0.15% ของฐานภาษี ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดตามที่ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 มาตรา 37 วรรคหนึ่ง ให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไว้ ส่วนที่ดินนอกเหนือ 3 ประเภทดังกล่าว ใช้อัตราภาษีตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาในปัจจุบัน


เพื่อให้การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย สำนักการคลัง กทม. ทำหนังสือถึงคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หารือปัญหาการตราข้อบัญญัติ กทม. เพราะ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 มาตรา 39 วรรคหก ให้อำนาจ อปท. ตราข้อบัญญัติกำหนดอัตราภาษีที่ใช้จัดเก็บในอัตราที่สูงกว่าที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา แต่ไม่มีข้อความดังเช่นวรรคห้าที่ให้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีแยกตามประเภทการใช้ประโยชน์หรือตามเงื่อนไขในแต่ละประเภทการใช้ประโยชน์ได้ ทั้งนี้ อยู่ระหว่างรอคำตอบจากกระทรวงการคลัง


ในที่ประชุมผู้บริหาร กทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้ความเห็นว่า ในเรื่องนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาพิจารณาในรายละเอียดให้สำนักการคลัง แจ้งฝ่ายรายได้ สำนักงานเขต สำรวจแปลงที่ดินที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมในที่ดินที่อยู่ในโซนสีแดงประเภทพาณิชยกรรม หรือสำรวจแปลงที่ดินที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมในพื้นที่ทั้งหมด เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาว่าในพื้นที่ดังกล่าวมีการทำเกษตรกรรมจริงจำนวนเท่าใด เพราะเจตนารมณ์ของการยกร่างข้อบัญญัตินี้ เพื่อให้เจ้าของที่ดินในพื้นที่ที่มีมูลค่าสูง และไม่ได้ประกอบการอาชีพเกษตรกรรม เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง


กทม. รอดูแนวทางวันที่ 30 สิงหาคมนี้ ที่จะมีการประชุมอนุกรรมการวินิจฉัยภาษีที่ดินฯ มีผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. เป็นประธานว่าจะมีแนวทางอย่างไรสำหรับข้อหารือที่ กทม. ได้ยื่นเสนอไปขอปรับเพดานเก็บภาษีที่ดิน สำหรับที่ดินเกษตรกรรมตามโซนสีผังเมือง จากปัจจุบัน 0.01-0.1% เป็น 0.15% หรือเพิ่มขึ้น 15 เท่า จากล้านละ 100 บาท เป็นล้านละ 1,500 บาท เพื่อให้ กทม. เก็บภาษีได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น


สำหรับผลการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำปีงบประมาณ 2565 ของ 50 สำนักงานเขต ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 - 31 กรกฎาคม 2565 มีจำนวนผู้เสียภาษี 488,855 ราย เป็นเงิน 10,376.158 ล้านบาท คิดเป็น 91.2% ทั้งนี้ มีธุรกิจรายใหญ่ขอผ่อนชำระ 3 งวด หลายรายร่วม 2,000 ล้านบาท




รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/DwEF5lwHF78

แท็กที่เกี่ยวข้อง  ภาษีที่ดิน ,นายทุนปลูกกล้วย

คุณอาจสนใจ

Related News