สังคม

กรมปศุสัตว์ ชี้ "ฝีหนองในเนื้อหมู" เกิดจากการอักเสบ ไม่ใช่โรคติดต่อสู่คน

โดย pattraporn_a

13 มิ.ย. 2564

766 views

กรมปศุสัตว์ชี้ฝีหนองในเนื้อหมู เกิดจากการอักเสบไม่ใช่โรคติดต่อสู่คน “เจอแจ้งผู้จำหน่าย” ย้ำอย่าเชื่อสาเหตุจากโรคระบาด


นายสัตวแพทย์ สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่าด้วยปรากฏข่าวผู้บริโภคพบเนื้อสุกรที่มีความผิดปกติมีลักษณะคล้ายฝีหนองฝังอยู่ในกล้ามเนื้อ สร้างความวิตกกังวลให้แก่ผู้บริโภคถึงความเชื่อมั่นในการบริโภคเนื้อสุกร เนื่องจากมีการกล่าวอ้างว่าเกิดจากสุกรที่ป่วยเป็นโรคระบาดต่างๆ


ขอยืนยันว่าการเกิดฝีหนองในกล้ามเนื้อดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการป่วยเป็นโรคระบาดหากแต่เกิดจากการอักเสบเนื่องจากการฉีดวัคซีนหรือยาเพื่อการรักษาให้แก่สุกร ซึ่งลักษณะการเกิดฝีดังกล่าวเป็นกลไกลปกป้องตัวเองตามธรรมชาติของสัตว์


สาเหตุการอักเสบที่เป็นไปได้มีทั้งจากจุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนเข้าไปในกล้ามเนื้อสุกรจากการแทงเข็มฉีดยาที่ไม่สะอาดหรือการอักเสบที่ไม่มีการติดเชื้อเช่นการแพ้ยาหรือวัคซีนที่ฉีดนั้นทำให้อักเสบและเกิดการสร้างฝีหุ้มไว้ ฝีหนองที่ฝังในกล้ามเนื้อจึงมิได้เกิดจากการป่วยเป็นโรคระบาดต่างๆ แล้วทำให้เกิดฝีแต่ประการใด


กรมปศุสัตว์และเครือข่ายพันธมิตรได้ป้องกันและเฝ้าระวังโรคระบาดอันตรายในสุกรมาอย่างต่อเนื่องถึงแม้ว่าโรคระบาดนั้นจะเกิดเฉพาะในสุกรไม่ติดต่อสู่คนแต่อย่างใด แต่เพื่อสร้างมั่นใจให้กับผู้บริโภคขอยืนยันว่าไม่มีการนำสุกรที่ป่วยเป็นโรคเข้าผลิตส่งขายให้ผู้บริโภคแน่นอน


ทั้งนี้ ถึงแม้โอกาสเจอฝีหนองจะไม่มากนัก เพราะโรงฆ่าสัตว์มีพนักงานตรวจเนื้อสัตว์ตรวจสอบสุกรทุกตัวทั้งก่อนการฆ่าและตรวจซากหลังการฆ่า รวมทั้งทำหน้าที่ตัดสินซากให้มั่นใจว่าไม่มีการนำสุกรป่วยที่ไม่เหมาะสมต่อการบริโภคหรือพบว่ามีฝีหนองที่บริเวณภายนอกเข้าผลิต หากการตรวจพบบริเวณฝีหนองแค่บางจุดไม่ใหญ่มากนักสามารถตัดเลาะบริเวณที่ได้รับผลกระทบออกไป และพิจารณาเนื้อส่วนที่ดีอื่นๆ ให้เหมาะสมต่อการนำมาบริโภคได้


อย่างไรก็ตามยังมีโอกาสบางส่วนที่อาจพบก้อนฝีฝังตัวในกล้ามเนื้อชั้นลึกซึ่งไม่สามารถตรวจสอบด้วยตาจากภายนอกได้ เช่น บริเวณสันคอที่ใช้เป็นตำแหน่งแทงเข็มโดยทั่วไป ต้องมีการตัดแต่งเป็นเนื้อชิ้นเล็กลงถึงจะพบเจอฝีที่เกิดในสุกรบางตัวได้


ซึ่งถ้าผู้บริโภครายใดซื้อเนื้อสุกรไปจากสถานที่จำหน่ายแล้วพบเจอฝีในเนื้อ ให้ดำเนินการแจ้งผู้ขายหรือสถานที่จำหน่ายที่ซื้อเนื้อสุกรนั้นมาทันที เนื่องจากเป็นสิทธิของผู้บริโภคที่พึงกระทำได้และผู้จำหน่ายเนื้อดังกล่าวต้องเป็นผู้รับผิดชอบแก้ไขหรือชดเชยให้แก่ผู้บริโภคที่ซื้อไป เพราะเข้าข่ายการจำหน่าย “อาหารไม่บริสุทธิ์”ตาม พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 ผู้จำหน่ายอาจระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ