สังคม

คนกรุงระทม PM 2.5 ปกคลุมเมือง หมอเตือนฝุ่นมีผลให้โควิดรุนแรงขึ้น จี้รัฐแก้ปัญหาด่วน

โดย

16 ธ.ค. 2563

711 views

ฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลยังวิกฤต จากสภาวะอากาศนิ่ง ไม่มีลม ทำให้ฝุ่นปกคลุมทั่วทั้งเมือง เริ่มส่งผลกระทบกับระบบทางเดินหายใจและสุขภาพของประชาชน

ข้อมูลจาก AirVisual.com เมื่อ 16 ธ.ค.2563 เวลา 04.00 น. พบว่ากรุงเทพฯ อยู่อันดับที่ 14 เมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลก

ส่วนข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ Air4Thai พบปริมาณในเวลา 05.00 น. เกินค่ามาตรฐาน 51 จุด จากจุดวัด 73 จุด ซึ่ง 5 อันดับสูงสุด ได้แก่

ริม ถ.มาเจริญ เพชรเกษม 8 เขตหนองแขม 101ไมโครกรัมต่อ ลบ.ม.

ริม ถ.คลองทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา 88 ไมโครกรัมต่อ ลบ.ม.

ริม ถ.แยกท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ 84 ไมโครกรัมต่อ ลบ.ม.

ริม ถ.ดินแดง เขตดินแดง 83 ไมโครกรัมต่อ ลบ.ม.

ริม ถ.เจริญนคร เขตคลองสาน 82 ไมโครกรัมต่อ ลบ.ม.

ริม ถ.พุทธมณฑล 1 เขตตลิ่งชัน 82 ไมโครกรัมต่อ ลบ.ม.

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ว่า รัฐบาลมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมมือหลากหลายภาคส่วน ทั้งการลดการเผา ลดการใช้รถใช้ถนน ใช้ขนส่งสาธารณะให้มากที่สุด ลดการเผาเพื่อการเพาะปลูก หรือแม้แต่ระบบอุตสาหกรรม แต่จะต้องให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนน้อยที่สุด และห่วงว่าเด็กเล็ก หรือผู้สูงอายุ จะได้รับผลกระทบจากฝุ่นในครั้งนี้มากที่สุดซึ่งสถานการณ์ส่วนหนึ่ง ก็เป็นเพราะสภาพอากาศ รวมถึงสภาพอากาศจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย

ส่วนการปิดโรงเรียน สถานศึกษา หากสถานการณ์ฝุ่นละอองทวีความรุนแรงเพื่มขึ้นนั้น นายกรัฐมนตรี ขอให้เป็นเรื่องที่สถานศึกษาจะพิจารณา

ด้าน ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล แถลงข่าวการรับมือฝุ่น PM 2.5

เรียกร้องให้ผู้อำนาจในการตัดสินใจเร่งแก้ปัญหา ทั้งการเหลื่อมเวลาการทำงาน การเรียน การทำงานที่บ้าน (Work From Home) เพื่อลดการก่อมลพิษเพิ่ม และไม่ให้ได้รับผลจากมลพิษจากการต้องออกนอกบ้านไปส่งลูกหลานหรือไปทำงาน ทำให้เกิดสภาพการจราจรที่แออัด เพิ่มการเผาไหม้ของคาร์บอนไดออกไซด์ โดยพบว่า ช่วงเวลา 04.00 - 07.00 น. เป็นช่วงที่มีค่าฝุ่นละอองสูงมากที่สุด จึงอยากให้มีการงดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง รวมถึงกิจกรรมวิ่งที่มักจัดในช่วงนี้

ทั้งนี้มีการตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ของยุโรปและอเมริกา พบว่า ฝุ่น PM 2.5 มีผลสัมพันธ์ให้โควิด-19 รุนแรงขึ้น โดยพบว่า ฝุ่นที่มีขนาดเล็กจะเข้าไปทำลายระบบทางเดินทายหายใจและปอด ทำให้เกิดการอักเสบได้ง่าย เปรียบได้กับคนสูบบุหรี่ทำให้ปอดเสื่อมสมรรถภาพลง

ดังนั้น การสวมหน้ากากอนามัยป้องกันจึงมีความจำเป็น โดยหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ป้องกันฝุ่นได้ร้อยละ 60 หน้ากากผ้าต้องแบบผสมกับเส้นใยสังเคราะห์ที่มีความยืดหยุ่น และแนบกับหน้าจะป้องกันได้ดีกว่าหน้ากากผ้าฝ้ายธรรมดา แต่ไม่แนะนำให้ใช้หน้ากาก N95 เพราะสวมใส่ไม่ได้ตลอด เนื่องจากอึดอัด จึงเหมาะกับบุคลากรทางการแพทย์ และคนทำงานกลางแจ้งในช่วงเวลาสั้นๆ

ด้าน ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกรแห่งประเทศไทย ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย และอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ระดับฝุ่นพิษ PM 2.5 ในกทม.ทะลุสู่อันดับโลก เคียงคู่ประเทศโลกที่สาม ทั้งปากีสถาน และบังคลาเทศ แนะ 5 ข้อในการแก้ปัญหา

1. เมื่อรู้ว่า ฝุ่นพิษมาจากรถยนต์จำพวกไหน ก็ต้องจัดการกับรถจำพวกนั้นก่อน เช่น รถบรรทุกปล่อยควันดำ ควันพิษ ต้องไม่ปล่อยเข้ากรุงเทพเด็ดขาด ให้รู้กันไป คุณจะมาทำร้ายลูกเรา พ่อแม่เรา ไม่ได้

2. รถเมล์ รถร่วม รถสองแถว จะอ้างการบริการ อ้างส่งคน มาเป็นตัวประกัน แล้วมาปล่อยพิษร้าย มันไม่แฟร์ เจ้าของรถ ต้องรับผิดชอบ หากคุณยังจะวิ่งรถ คุณต้องเจอค่าปรับหนัก! คุณก็เข็ด รีบปรับปรุง เพราะเครื่องยนต์มันถูกปรับปรุงให้ดีกว่าเดิมได้

3. หน่วยงานรัฐ ที่มีรถราชการ ใช้กันอยู่จำนวนมหาศาลนับหมื่น นับแสนคันในกรุงเทพ มักเป็นรถเก่าๆ จะต้องถูกกำหนดให้ดูแล ตรวจสภาพรถของทุกหน่วย ไม่ปล่อยฝุ่นพิษ

4. อาจเป็นจังหวะที่รถราชการ ได้ประเดิมใช้รถไฟฟ้า ก่อนประชาชน เพราะรัฐสนับสนุน ซื้อเอง ใช้เอง เกิด Economy of Scale หรือ จำนวนที่มากพอ ทำให้ราคารถถูกลง จูงใจประชาชน หันมากล้าใช้รถไฟฟ้า

5. มาตราการทางภาษี รัฐต้องกัดฟัน บังคับใช้ เพื่อดูแลลูกหลานไทย

ชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/7IZCm0NaBoo

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ