พระราชสำนัก

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ที่จังหวัดสงขลา

โดย

24 ก.ย. 2563

738 views

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ที่จังหวัดสงขลา ดังนี้ 
วันนี้ เวลา 9 นาฬิกา 57 นาที สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิด อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ (จังหวัดสงขลา) ที่พื้นที่ส่วนขยายมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ที่สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้รับงบประมาณก่อสร้าง แล้วเสร็จเมื่อปี 2562 เพื่อเป็นศูนย์กลางให้บริการสนับสนุนการวิจัย พัฒนาการสร้างความเข้มแข็งของผู้ประกอบการ ที่อาศัยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรมเป็นฐานในการประกอบธุรกิจ โดยความเชื่อมโยงองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยจากภาครัฐ ไปสู่ภาคเอกชน และผลักดันให้เกิดการนำทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานด้านวิจัย และพัฒนาในภาครัฐ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านเทคโนโลยี และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่ 
ในการนี้ ทอดพระเนตรนิทรรศการผลงานเด่นด้านการเกษตร ,ด้านพลังงาน และผลงานนวัตกรรมเพื่อสังคม อาทิ เทคโนโลยีการหล่อโลหะแบบสเลอร์รี่, ชุดตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 และถุงเพาะชำจากยางพารา เป็นต้น ซึ่งอาคารดังกล่าว ประกอบด้วยพื้นที่ให้บริการสนับสนุนอย่างครบวงจร อาทิ การวิจัย และพัฒนาแก่ภาคเอกชน ,ห้องปฏิบัติการและเครื่องมือ สำหรับการวิจัยและพัฒนา, วิเคราะห์ ทดสอบและรับรองมาตรฐาน รวมถึง ศูนย์การออกแบบนวัตกรรม สำนักงานความร่วมมืออุตสาหกรรม ศูนย์ประสานงาน กระทรวงอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 
โอกาสนี้ พระราชทานพระราชวโรกาสให้ นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นำคณะข้าราชการระดับสูง เฝ้าทูลละอองพระบาท กราบบังคมทูลลา ในโอกาสเกษียณอายุราชการ 
เวลา 13 นาฬิกา 11 นาที เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดห้องสมุดพร้อมปัญญา เรือนจำกลางสงขลา ซึ่งได้พัฒนาภายใต้แนวคิด Art Library เปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังส่วนใหญ่ ที่ผ่านการฝึกอบรมทักษะวิชาชีพสาขาต่างๆ ได้แสดงความสามารถ ด้านงานช่างทำห้องสมุด ในการนี้ พระราชทานหนังสือทั่วไป จำนวน 300 เล่ม เพื่อให้ผู้ต้องขังได้อ่านหนังสือที่หลากหลาย มีสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ไปอบรมการจัดหมวดหมู่หนังสือ และสนับสนุนหนังสือประเภทต่างๆ รวมทั้งหนังสืออิเล็กทรอนิคส์ ปัจจุบันมีหนังสือกว่า 1 หมื่น 2 พันเล่ม โดยหนังสือที่ผู้ต้องขังนิยมอ่านมากที่สุด คือ ประเภทนวนิยายจีน นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการเขียนคำปฏิญาณตนแสดงความจงรักภักดี, สมุดบันทึกยอดนักอ่าน เพื่อเขียนบันทึกสิ่งที่ได้จากการอ่าน ต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ และมุมซ่อมหนังสือ ด้วยการใช้ผ้าพื้นเมืองทำปก เพื่อฝึกอาชีพแก่ผู้ต้องขัง
โอกาสนี้ ทอดพระเนตรกิจกรรมการจัดการเรียนการสอนให้ผู้ต้องขัง อาทิ ห้องเรียนสายสามัญระดับผู้ไม่รู้หนังสือ ซึ่งเป็นผู้ต้องขังที่มาจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ชาวไทยภูเขา และชาวต่างประเทศ จำนวน 90 คน ด้วยการใช้เพลง และใช้บัตรคำ เพื่อให้สามารถสื่อสารได้ ส่วนห้องเรียนคอมพิวเตอร์ โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามแนวพระราชดำริ จัดสอนอินโฟกราฟิกด้วยโปรแกรมพาวเวอร์พ้อย เพื่อเสริมสร้างความรู้นำไปประกอบอาชีพ ด้านห้องเรียนระดับอุดมศึกษา มีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เปิดรับผู้ต้องขังเข้าศึกษาระดับปริญญาตรีใน 9 สาขาวิชา อาทิ เกษตรศาสตร์, รัฐศาสตร์, นิติศาสตร์, และวิทยาการจัดการ มีผู้ต้องขังเข้าศึกษา 71 คน ห้องเรียนบาลีศึกษา และอิสลามศึกษา เพื่อพัฒนาจิตใจผู้ต้องขังตามหลักศาสนา ช่วยให้ผู้ต้องขังเกิดคุณธรรมในใจ ไม่กลับไปกระทำผิดซ้ำ รวมถึงการฝึกอาชีพ อาทิ งานแกะสลักไม้ , งานจักสานด้วยวัสดุรีไซเคิล, การวาดภาพเหมือน, การผลิตสมุนไพรเพื่อสุขภาพ และผลิตภัณฑ์ผ้าปาเต๊ะ ทั้งนี้ เรือนจำกลางสงขลา กำกับดูแลเรือนจำ ทัณฑสถาน เขต 9 รวม 12 แห่ง ปัจจุบันมีจำนวนผู้ต้องขัง 4,180 คน มีเจ้าหน้าที่ 113 คน
เวลา 14 นาฬิกา 37 นาที เสด็จพระราชดำเนินไปทัณฑสถานหญิงสงขลา อำเภอเมืองสงขลา ทรงเปิดห้องสมุดพร้อมปัญญา ซึ่งเป็นห้องสมุดเฉพาะกึ่งห้องสมุดประชาชน ให้บริการสื่อทรัพยากรสารสนเทศแก่เจ้าหน้าที่ และผู้ต้องขัง เพื่อให้ผ่อนคลาย และมีโอกาสสัมผัสกับโลกภายนอกผ่านข้อมูลข่าวสารที่ทันสมัย จัดบริการเป็นหมวดหมู่ เช่น มุมบริการสืบค้นและยืมคืน ,มุมซ่อมหนังสือ, มุมบริการสืบค้นสารสนเทศสื่อวีดิทัศน์ และมุมเฉลิมพระเกียรติ มีหนังสือพระราชนิพนธ์ และหนังสือที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานให้
โอกาสนี้ ทอดพระเนตรกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับการฝึกอาชีพ ศิลปหัตถกรรม และสิ่งทอที่เป็นเอกลักษณ์ ภายใต้แนวคิด "สืบศิลป์ ทอสาย สานอาชีพ" เช่น ศิลปะบำบัด การใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือ ให้ผู้ต้องขังได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ ซี่งมีผลงานได้รับรางวัลยอดเยี่ยมจากการประกวดศิลปกรรมนำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต ครั้งที่ 26 ระดับอุดมศึกษา ,การทำผ้าบาติก ผ้ามัดย้อม การปักเลื่อมผ้าถุงปาเต๊ะ และการทอผ้าพื้นเมืองเกาะยอสงขลา ทำขนมไทย ดนตรีบำบัด เป็นการนำศิลปะทางด้านดนตรีที่มีความหลากหลาย เช่น ดนตรีไทย ดนตรีสากล มาใช้ในการกล่อมเกลาจิตใจผู้ต้องขัง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้มีพฤติกรรมที่ดี ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถซื้อสินค้าดังกล่าวได้ในเพจ "ชวนชมสมิหรา"
เวลา 15 นาฬิกา 18 นาที เสด็จพระราชดำเนินไปยังทัณฑสถานบำบัดพิเศษสงขลา ตำบลเกาะแต้ว อำเภอเมืองสงขลา ทรงเปิดห้องสมุดพร้อมปัญญา เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาค้นคว้าแก่ผู้ต้องขัง สนับสนุนภารกิจ ในการแก้ไขปัญหาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง ให้เป็นพลเมืองดีคืนสู่สังคม และเป็นสถานที่พักผ่อนคลายความตึงเครียด ตลอดจนส่งเสริมให้มีโอกาสสัมผัสกับโลกภายนอก ในการนี้ พระราชทานหนังสือแก่ห้องสมุดพร้อมปัญญา อาทิ ชุดทศมินทรราชามหาวชิราลงกรณ , หนังสือพระราชนิพนธ์ เรื่องทองแดง และพระมหาชนก , รัชกาลที่ 9 กับชาวสงขลา โดยจัดเป็นมุมต่างๆ อาทิ มุมสารสนเทศ ให้บริการสื่อทรัพยากรสารสนเทศ มุมหนังสือในพระราชนิพนธ์ , หนังสือทั่วไป , นวนิยาย , วารสารและนิตยสาร 
ทั้งนี้ ทัณฑสถานบำบัดพิเศษสงขลา ได้ดำเนินงานฝึกอาชีพให้แก่ผู้ต้องขัง ให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุขหลังพ้นโทษ มีงานมีอาชีพอย่างสุจริต อาทิ การทำของชำร่วย , ขนมไทย และซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยวิทยาลัยการอาชีพนาทวี อำเภอนาทวี เข้าไปอบรมหลักสูตรระยะสั้น และงานเกษตรกรรม ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เช่น การปลูกข้าวปลอดสารพิษในพื้นที่จำกัด , ทำปุ๋ยอินทรีย์จากเศษอาหาร , ถ่านไม้ไผ่ดูดกลิ่น และไข่เค็มสมุนไพร นอกจากนี้ ยังมีโครงการเรือนจำเฉพาะทางประเภทกีฬาประจำภาคใต้ เพื่อแก้ไขพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง ให้มีระเบียบวินัย มีน้ำใจเป็นนักกีฬา มีการฝึกอบรม 5 ชนิดกีฬา คือ ฟุตบอล เซปักตะกร้อ มวยไทย มวยสากลสมัครเล่น และปันจักสีลัต
 โอกาสนี้ ทอดพระเนตรการแสดงของกองลูกเสือวิวัฒน์ เพื่อพลังแผ่นดินทรายขาว ชุด "ใต้ร่มพระบารมีจักรีวงศ์" ซึ่ง ทัณฑสถานบำบัดพิเศษสงขลา ควบคุมผู้ต้องขังชายที่มีกำหนดโทษตามคำพิพากษาของศาลไม่เกิน 30 ปี กระทำความผิดพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ความผิดอื่นๆ ที่มีพฤติกรรมเสพยาเสพติดให้โทษ , และควบคุมตัวผู้ต้องกักขังตามหมายกักขังของศาล ปัจจุบันมีผู้ต้องขัง 3,334 คน

แท็กที่เกี่ยวข้อง