ไลฟ์สไตล์

รายงานชี้มลพิษทางอากาศ คร่า 8.1 ล้านคนทั่วโลก และกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับ 2 ของการเสียชีวิตทั่วโลก

โดย thichaphat_d

8 ม.ค. 2568

38 views

รายงานฉบับใหม่ชี้มลพิษทางอากาศคร่าชีวิตผู้คน 8.1 ล้านคนทั่วโลกในปี 2564 และกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับ 2 ของการเสียชีวิตทั่วโลก รวมถึงในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี แซงหน้าการสูบบุหรี่และการกินไม่ดี

รายงานสภาวะอากาศโลกฉบับที่ 5 (State of Global Air -SoGA) เปิดเผยเมื่อ 19 มิถุนายน 2567 ว่า มลพิษทางอากาศกำลังส่งผลกระทบรุนแรงมากขึ้นต่อสุขภาพของมนุษย์ และได้กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับที่สองต่อการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลก

รายงานนี้เผยแพร่โดย Health Effects Institute (HEI) ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยอิสระที่ไม่แสวงหากำไรในสหรัฐฯ พบว่า ในปี 2564 มลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของผู้คนถึง 8.1 ล้านคนทั่วโลก และอีกหลายล้านคนต้องเผชิญกับโรคเรื้อรัง ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อระบบสาธารณสุข เศรษฐกิจ และสังคม

รายงานฉบับนี้จัดทำขึ้นโดยร่วมมือกับยูนิเซฟเป็นครั้งแรก และพบว่าเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปีมีความเปราะบางต่อมลพิษทางอากาศเป็นพิเศษ โดยส่งผลกระทบต่อสุขภาพในด้านต่าง ๆ เช่น การคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักแรกเกิดน้อย โรคหอบหืด และโรคปอด รายงานชี้ว่า ในปี 2564 มลพิษทางอากาศเชื่อมโยงกับการเสียชีวิตของเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปีมากกว่า 700,000 คน และกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับที่สองของการเสียชีวิตของเด็กกลุ่มอายุนี้ทั่วโลก รองจากภาวะทุพโภชนาการ โดยการเสียชีวิตของเด็กกลุ่มนี้ประมาณ 500,000 คนเกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศภายในครัวเรือน ซึ่งเกิดจากการทำอาหารภายในบ้านโดยใช้เชื้อเพลิงที่ก่อมลพิษ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในภูมิภาคแอฟริกาและเอเชีย


ปัญหาสุขภาพระดับโลก

รายงาน SoGA ฉบับนี้ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลจากการศึกษาภาระโรคทั่วโลก (Global Burden of Disease study) ตั้งแต่ปี 2564 ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามลพิษ เช่น ฝุ่นละอองขนาดเล็กขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน  (PM2.5), มลพิษทางอากาศภายในครัวเรือน, โอโซน (O3) และก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) กำลังส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพของมนุษย์ทั่วโลก รายงานได้รวบรวมข้อมูลในกว่า 200 ประเทศและเขตแดนทั่วโลก ซึ่งบ่งชี้ว่าในทุก ๆ วันมนุษย์เกือบทุกคนบนโลกกำลังหายใจเอามลพิษทางอากาศในระดับที่ไม่ดีต่อสุขภาพเข้าไป ซึ่งกระทบต่อสุขภาพอย่างมหาศาล

กว่าร้อยละ 90 ของการเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศทั่วโลก หรือประมาณ 7.8 ล้านคน มีสาเหตุมาจาก PM 2.5 ซึ่งรวมถึงจาก PM 2.5 ภายนอกและภายในครัวเรือน อนุภาคขนาดเล็กเหล่านี้เล็กมากจนยังคงอยู่ในปอดและสามารถเข้าสู่กระแสเลือดได้ และส่งผลกระทบต่อระบบอวัยวะต่าง ๆ ตลอดจนเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อในผู้ใหญ่ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวาน มะเร็งปอด และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) รายงานยังระบุว่า PM2.5 เป็นตัวบ่งชี้ที่แม่นยำและชัดเจนที่สุดในการคาดการณ์ปัญหาสุขภาพของประชากรทั่วโลกในอนาคต

“เราหวังว่ารายงาน State of Global Air นี้จะเป็นข้อมูลที่สร้างแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนแปลง” ดร. เอเลนา คราฟต์ ประธาน HEI กล่าว “มลพิษทางอากาศส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างมหาศาล เรารู้ดีว่าการปรับปรุงคุณภาพอากาศและการสาธารณสุขทั่วโลกเป็นสิ่งที่ต้องทำและสามารถทำให้สำเร็จได้”


มลพิษทางอากาศกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

PM2.5 เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลและชีวมวลในภาคส่วนต่าง ๆ เช่น การคมนาคม บ้านพักอาศัย โรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหิน อุตสาหกรรม และไฟป่า การปล่อยมลพิษเหล่านี้ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์เท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อก๊าซเรือนกระจกซึ่งทำให้โลกร้อนขึ้นอีกด้วย โดยประชากรกลุ่มเปราะบางที่สุดมักเป็นผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมลพิษทางอากาศ

ในปี 2564 การสัมผัสกับโอโซนเป็นระยะเวลานานส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 489,518 คนทั่วโลก รวมถึงการเสียชีวิตของประชากร 14,000 คนในสหรัฐอเมริกาจากโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่เกี่ยวข้องกับโอโซน ซึ่งสูงกว่าประเทศที่มีรายได้สูงอื่น ๆ ในขณะที่อุณหภูมิโลกกำลังสูงขึ้นจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พื้นที่ที่มีระดับก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์สูงมักจะมีระดับโอโซนที่สูงขึ้นด้วย ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสุขภาพมากขึ้นอีก

นับเป็นครั้งแรกที่รายงานครั้งนี้ระบุข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบด้านสุขภาพจากไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ซึ่งรวมถึงการเกิดโรคหอบหืดในเด็ก แหล่งสำคัญของก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์มาจากไอเสียจากการจราจรเป็นหลัก ซึ่งหมายความว่าเขตเมืองที่มีประชากรหนาแน่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีรายได้สูง มักเผชิญกับก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ในระดับที่สูงมาก พร้อมกับปัญหาด้านสุขภาพของประชากรที่ตามมา

“รายงานฉบับใหม่นี้เป็นเครื่องตอกย้ำว่ามลพิษทางอากาศกำลังส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพของมนุษย์ โดยเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง มักจะเป็นผู้แบกรับผลกระทบเหล่านั้นอย่างรุนแรง” ดร. ปัลวี พันท์ กล่าว หัวหน้าฝ่ายสุขภาพทั่วโลกของ HEI กล่าว “ข้อมูลเหล่านี้ถือเป็นโอกาสที่จะทำให้ประเทศและเมืองใหญ่คำนึงถึงคุณภาพอากาศและมลพิษทางอากาศ และพิจารณาประเด็นเหล่านี้ในการกำหนดนโยบายด้านสุขภาพ ตลอดจนการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่ออื่น ๆ”


สุขภาพของเด็ก

มลพิษทางอากาศส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กอย่างรุนแรง เนื่องจากเด็กมีความเปราะบางต่อมลพิษทางอากาศเป็นพิเศษ และผลกระทบนั้นสามารถเริ่มต้นตั้งแต่ในครรภ์และส่งผลตลอดชีวิต ตัวอย่างเช่น เด็กหายใจรับอากาศมากกว่าผู้ใหญ่เมื่อเทียบต่อน้ำหนักตัว และดูดซับสารมลพิษมากกว่าผู้ใหญ่ ในขณะที่ปอด ร่างกาย และสมองยังคงเจริญเติบโตไม่เต็มที่

การสัมผัสมลพิษทางอากาศในเด็กเล็กมีความเชื่อมโยงกับโรคปอดบวม ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของเด็ก 1 ใน 5 คนทั่วโลก รวมถึง โรคหอบหืด ซึ่งเป็นโรคทางเดินหายใจเรื้อรังที่พบบ่อยที่สุดในเด็กโต ผลกระทบของมลพิษทางอากาศต่อสุขภาพของเด็กเป็นเรื่องที่น่าตกใจ อัตราการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปีในแอฟริกาตะวันออก ตะวันตก กลาง และใต้ สูงกว่าเด็กในประเทศที่มีรายได้สูงถึง 100 เท่า

แม้ว่าจะมีความก้าวหน้าในด้านสุขภาพของแม่และเด็ก แต่ในแต่ละวันยังคงมีเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปีเกือบ 2,000 คนที่เสียชีวิตจากสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ” คิตตี้ ฟาน เดอร์ ไฮเดน รองผู้อำนวยการบริหารของยูนิเซฟ กล่าว “การเพิกเฉยของเรากำลังส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อคนรุ่นต่อไป โดยส่งผลต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ตลอดชีวิตของพวกเขา นี่คือความเร่งด่วนของโลกที่เราไม่อาจปฏิเสธได้ รัฐบาลและภาคธุรกิจจำเป็นต้องคำนึงถึงข้อมูลเหล่านี้รวมถึงข้อมูลที่มีอยู่ในประเทศ และใช้ข้อมูลดังกล่าวเพื่อแก้ปัญหาที่มุ่งเน้นการลดมลพิษทางอากาศและการปกป้องสุขภาพของเด็ก ๆ”

ความก้าวหน้าที่เกิดขึ้น

รายงาน SoGA มีข่าวดีเช่นกัน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 อัตราการเสียชีวิตของเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปีลดลงร้อยละ 53 ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากเข้าถึงเชื้อเพลิงสะอาดในการทำอาหาร ตลอดจนการเข้าถึงการรักษาพยาบาล โภชนาการ และความตระหนักรู้ถึงอันตรายจากการสัมผัสมลพิษทางอากาศภายในครัวเรือน

หลายประเทศกำลังแก้ปัญหาอย่างจริงจัง โดยเฉพาะประเทศที่กำลังเผชิญมลพิษทางอากาศรุนแรง การปรับปรุงคุณภาพอากาศในภูมิภาคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น แอฟริกา ละตินอเมริกา และเอเชีย เช่น การติดตั้งระบบตรวจสอบมลพิษทางอากาศ, การดำเนินนโยบายคุณภาพอากาศที่เข้มงวดขึ้น หรือการลดมลพิษทางอากาศโดยการเปลี่ยนไปใช้เครื่องยนต์ไฮบริดหรือไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม แม้ภาคส่วนต่าง ๆ กำลังวัดความก้าวหน้าเหล่านั้น แต่ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อหยุดยั้งมลพิษทางอากาศและไม่ให้มลพิษทางอากาศกลายเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงที่สุดต่อชีวิตของมนุษย์ทั่วโลก

คุณอาจสนใจ

Related News