ต่างประเทศ

5 ค่ายรถแบรนด์ดังญี่ปุ่น บิดเบือนผลทดสอบความปลอดภัย รัฐบาลสั่งระงับการขาย-ส่งมอบ

โดย passamon_a

4 มิ.ย. 2567

1.1K views

เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.67 สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า กระทรวงคมนาคมของญี่ปุ่น ได้ตรวจพบปัญหาด้านความปลอดภัยในรถยนต์ 5 ยี่ห้อดัง ได้แก่ โตโยต้า (Toyota), มาสด้า (Mazda), ฮอนด้า (Honda), ซูซูกิ (Suzuki) และ ยามาฮ่า (Yamaha) โดยบริษัทเหล่านี้มีการรายงานข้อมูลความปลอดภัยที่เป็นเท็จหรือบิดเบือน ระหว่างกระบวนการทดสอบความปลอดภัยทางถนน ส่งผลให้รัฐบาลมีคำสั่งให้ระงับการขายและส่งมอบรถยนต์ 6 รุ่นที่พบปัญหา


ซึ่งในจำนวนนี้เป็นรถของโตโยต้า ถึง 3 รุ่น รายงานระบุว่า กรณีของ โตโยต้า มอเตอร์ ค่ายรถอันดับ 1 ในญี่ปุ่นนั้น ตรวจพบปัญหาในรถยนต์ 3 รุ่นคือ โคโรลลา ฟีลเดอร์ (Corolla Fielder), โคโรลลา อาซิโอ (Corolla Axio) และ ยาริส ครอส (Yaris Cross) และยังพบด้วยว่าโตโยต้ามีการใช้รถทดสอบที่ได้รับการดัดแปลง ในระหว่างการทดสอบความปลอดภัยในการชน สำหรับรถรุ่นที่ผ่านมา 4 รุ่น รวมถึงรุ่น Crown ด้วย


เหตุการณ์ล่าสุดนี้ส่งผลให้ อาคิโอะ โทโยดะ ประธานบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น เปิดแถลงข่าวทันทีภายในวันเดียวกัน เพื่อกล่าวขอโทษและชี้แจงถึงปัญหาที่เกิดขึ้น "เราละเลยต่อกระบวนการขอใบรับรองและการผลิตรถยนต์จำนวนมาก โดยไม่ได้ทำตามขั้นตอนป้องกันที่เหมาะสมก่อน เราต้องขออภัยต่อลูกค้าของเราและผู้ที่ติดตามวงการยานยนต์ทุกท่าน"


ทั้งนี้ โตโยต้า ระบุว่า การระงับการส่งมอบรถยนต์ 3 รุ่นดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อไลน์การผลิต 2 แห่ง ที่รับผิดชอบการผลิตรถจำนวน 1.3 แสนคันต่อปี ขณะที่โตโยต้าเพิ่งรายงานการจำหน่ายรถยนต์ได้สูงสุดทุบสถิติใหม่ที่กว่า 11 ล้านคันทั่วโลกในปีที่แล้ว


ทางด้านบริษัท มาสด้า มอเตอร์ แถลงยอมรับว่า บริษัทได้ตบแต่งผลการทดสอบ และแทรกแซงในฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบการชนในรถยนต์ 5 รุ่น ซึ่งรวมถึงรุ่น มาสด้า 2 (Mazda 2) และ โรดสเตอร์ RF (Roadster RF) ขณะที่ทางการตรวจพบความผิดปกติในรถยนต์มากกว่า 1.5 แสนคัน ที่ผลิตตั้งแต่ปี 2014 และจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่น


"เราจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นกับซัพพลายเออร์เนื่องจากการหยุดจัดส่ง" มาซาฮิโระ โมโร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของมาสด้า กล่าวในวันนี้ พร้อมเสริมว่าบริษัทจะพยายามป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีก ขณะที่การระงับส่งมอบครั้งนี้คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อคำสั่งซื้อ 3,500 รายการ แต่ทางบริษัทยังไม่ได้พิจารณาที่จะเรียกคืนรถ ณ จุดนี้



อย่างไรก็ดี ซีอีโอของมาสด้า ย้ำว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของการตีความที่ผิดพลาดของพนักงานในเอกสารคู่มือที่ไม่ชัดเจน แต่ไม่ใช่การปลอมแปลงข้อมูลที่มีจุดประสงค์ร้าย หรือการตั้งใจปกปิดของบริษัท


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/mySKvgdTNhk

คุณอาจสนใจ

Related News