ต่างประเทศ
'ไอเอ็มเอฟ' คาดการณ์จีดีพีโลก ขยายตัวต่อเนื่อง - เตือนระวังเงินเฟ้อชะลอตัว ส่วนไทยจะโตได้ 2.9% ในปีนี้
โดย nattachat_c
17 ก.ค. 2567
41 views
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ออกรายงาน 'เวิลด์ อิโคโนมิค เอาท์ลุค' ฉบับทบทวนใหม่เดือนกรกฎาคม ว่า เศรษฐกิจโลกน่าจะเดินหน้า ขยายตัวในระดับพอประมาณต่อไป ในช่วง 2 ปีข้างหน้า ในช่วงที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ชะลอตัวลง ส่วนสถานการณ์ในยุโรปเริ่มฟื้นตัว ส่วนการบริโภคและการส่งออกของจีนจะกลับมาแข็งแกร่งขึ้น แม้ว่าจะยังมีปัจจัยความเสี่ยงต่าง ๆ รออยู่ข้างหน้า
โดย ไอเอ็มเอฟ ยังคงคาดการณ์จีดีพีโลกในปี 2024 ไว้ที่ 3.2% แต่ปรับตัวเลขของปี 2025 ขึ้น 0.1% เป็น 3.3% และคงตัวเลขคาดการณ์ของสหรัฐฯ ไว้ที่ 1.9% เพราะตลาดแรงงานที่ลดความร้อนแรงลง รวมทั้งการใช้จ่ายภาครัฐที่ลดลง ตามแนวนโยบายการเงินแบบตึงตัว
ส่วนเศรษฐกิจจีนนั้น จากเดิมที่จะเติบโตได้ที่ 4.6% ในปีนี้ ที่ประเมินไว้เมื่อเดือนเมษายนได้ปรับขึ้นเป็น 5.0% ซึ่งเป็นตัวเลขเดียวกับของรัฐบาลกรุงปักกิ่ง โดยอ้างถึงการฟื้นตัวของภาวะการบริโภคประชาชน และการส่งออกที่แข็งแกร่ง พร้อม ๆ กับปรับขึ้นประมาณการณ์จีดีพี ปี 2025 ของจีนจาก 4.1% เป็น 4.5% ด้วย
ในส่วนของยุโรป ไอเอ็มเอฟ ปรับขึ้นคาดการณ์จีดีพีของปีนี้ 0.1% เป็น 0.9% แต่คงตัวเลขปี 2025 ไว้ที่ 1.5% โดยระบุว่า เศรษฐกิจของประเทศในยุโรปนั้น “ฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดแล้ว” เนื่องจากการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งของภาคบริการในครึ่งปีแรก และการปรับขึ้นของค่าจ้างที่แท้จริง (real wage) ซึ่งเพิ่มขึ้น จะช่วยส่งพลังให้กับภาวะการบริโภคในปีหน้า และทำให้เกิดการผ่อนคลายด้านนโยบายทางการเงินต่อไปเพื่อช่วยส่งเสริมการลงทุนด้วย
ในส่วนของประเทศไทยนั้น ไอเอ็มเอฟ คาดการณ์ใหม่ว่า จีดีพีไทยจะเติบโตได้ที่ 2.9% ในปี 2004 และ 3.1% ในปี 2025 เพิ่มขึ้นจากเดิมเมื่อครั้งคาดการณ์ในเดือนเมษายน ซึ่งครั้งนั้น ไอเอ็มเอฟ คาดว่าจีดีพีไทยจะโตได้ที่ 2.7% ในปี 2024 และ 2.9% ในปี 2025
กระนั้น ไอเอ็มเอฟ ได้เตือนว่า พลวัตของการต่อสู้ภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูงเริ่มชะลอตัวลงแล้ว และนั่นอาจยิ่งทำให้การลดดอกเบี้ยล่าช้าออกไป พร้อม ๆ กับทำให้ภาวะค่าเงินดอลลาร์แข็งตัวเป็นตัวกดดันเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ ด้วย
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ยังได้เตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงจากเงินเฟ้อในระยะสั้น จากการที่ราคาภาคบริการคงตัวในระดับสูง เพราะการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างในธุรกิจที่เน้นการใช้แรงงาน
ขณะที่ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ และสงครามการค้ารอบใหม่ ก็นำไปสู่การปรับขึ้นของต้นทุนสินค้านำเข้า ในห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งส่งผลต่อแรงกดดันด้านราคาให้ทรงตัวในระดับสูงต่อไป
และท้ายที่สุด ประเด็นความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เชื่อมโยงกับนโยบายเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากการเลือกตั้งของหลายประเทศ ก็อาจส่งผลกระทบต่อประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกได้ด้วย
----------