ต่างประเทศ
ผู้ใช้แรงงานทั่วโลกลงถนนเดินขบวนวันแรงงาน - 'ปารีส-อิสตันบูล-มะนิลา' ปะทะเดือด
โดย nattachat_c
2 พ.ค. 2567
110 views
วานนี้ (1 พ.ค. 67) ในหลายประเทศทั่วโลก ได้มีการรวมตัวเดินขบวนประท้วงตามท้องถนน ในเมืองหลวงของประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเอเชีย ยุโรป หรืออเมริกา
โดยการประท้วงของแรงงานในกรุงปารีส ของฝรั่งเศส / ที่กรุงอิสตันบูล ของตุรกี และที่กรุงมะนิลา ของฟิลิปปินส์ ได้เกิดความรุนแรงขึ้น
-------------
โดยที่กรุงปารีสนั้น ตำรวจปราบจลาจลได้เกิดการปะทะกัน มีการขว้างแก๊สน้ำตา และ ปาระเบิดขวดหลายครั้ง แถมมีการจุดไฟเผารถด้วย
ผู้ประท้วงรายหนึ่ง บอกว่า “วันนี้ เรากำลังระดมพลเหมือนที่เราทำทุก ๆ วันแรงงาน เนื่องจากเป็นประเพณี มันไม่ใช่การเฉลิมฉลอง เพราะเราไม่ต้องการเฉลิมฉลองการทำงาน เมื่อพิจารณาจากเงื่อนไขที่เราทำงาน และค่าจ้างที่เราได้รับ เราอยู่ที่นี่ เพื่อเรียกร้องขอสภาพการทำงานที่ดีขึ้น เหมือนเช่นที่เราทำทุกปี เรากำลังระดมพล และขอเรียกร้องโบนัส 1,900 ยูโร และเราต้องการเบี้ยเลี้ยงสำหรับการบริการสาธารณะ อีก 400 ยูโรต่อเดือน"
--------------
ขณะเดียวกันที่กรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี ตำรวจก็ต้องผลักดัน และสลายกลุ่มฝ่ายซ้าย ที่พยายามเดินขบวนไปยังจัตุรัสทักซิม หลังจากที่รัฐบาลสั่งห้ามการประท้วงในวันแรงงาน ที่จัตุรัสกลางเมืองแห่งนี้
รายงาน ระบุว่า ตำรวจได้ปิดถนนทุกสายที่มุ่งสู่จัตุรัสทักซิม ทำให้เกิดการปะทะกับผู้ประท้วง ที่พยายามเคลื่อนพลเข้าสู่พื้นที่ มีการใช้แก๊สน้ำตา-สเปรย์พริกไทย เพื่อสลายกลุ่มผู้ประท้วง
ในอดีต ผู้ประท้วงจัดการชุมนุมที่จัตุรัสทักซิมในวันแรงงานเดือนพฤษภาคม แต่การประท้วงทั้งหมดในจัตุรัส ถูกห้ามในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีตำรวจหลายพันคนกระจายกำลังไปทั่วเมือง และจับกุมผู้ชุมนุมได้หลายคน
---------------
ส่วนที่เอเชีย นักเคลื่อนไหวหลายสิบคนปะทะกับตำรวจปราบจลาจลในกรุงมะนิลาเมื่อวานนี้ หลังจากที่ พวกเขาถูกสั่งห้าม ไม่ให้จัดการชุมนุมนอกสถานทูตสหรัฐฯ
ตำรวจใช้ปืนฉีดน้ำเพื่อปราบปรามนักเคลื่อนไหว ขณะที่พวกเขาพยายามจะผ่านเครื่องกีดขวาง
ในเวลาต่อมา ผู้ประท้วงได้เดินขบวนห่างจากสถานทูตหลายร้อยเมตร และทำลายหุ่นจำลองของประธานาธิบดี เฟอร์ดินันด์ มาร์กอส จูเนียร์ ของฟิลิปปินส์ โดยเรียกเขาว่า 'หุ่นเชิดของวอชิงตัน'
การประท้วงสหรัฐฯครั้งนี้ มีขึ้นในขณะที่กลุ่มนักเคลื่อนไหว และคนงานหลายร้อยคน เดินขบวนใกล้ประตูสู่ทำเนียบประธานาธิบดี ในกรุงมะนิลา เพื่อเรียกร้องให้ประธานาธิบดี มาร์กอส ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ สำหรับคนงานธรรมดาอีก 150 เปโซ (ราว 96 บาท)
ทั้งนี้ ค่าแรงขั้นต่ำรายวันในกรุงมะนิลา อยู่ที่ 610 เปโซ (ราว 391 บาท) ซึ่งนักเคลื่อนไหวกล่าวว่า ไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงดูครอบครัวเล็ก ๆ
----------------