ต่างประเทศ

ที่ประชุม COP29 เห็นชอบกำหนดกรอบมาตรฐานคาร์บอนเครดิตทั่วโลก

โดย panisa_p

12 พ.ย. 2567

126 views

ที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 29 หรือ COP29 มีมติเห็นชอบการกำหนดกรอบมาตรฐานคาร์บอนเครดิต เพื่อสร้างตลาดคาร์บอนทั่วโลก หวังระดมทุนให้กับโครงการต่าง ๆ ที่ดำเนินงานเกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในประเทศที่ยากจน



การรับรองกรอบมาตรฐานคาร์บอนเครดิตนี้ถือเป็นหนึ่งในข้อตกลงแรก ๆ ที่ได้รับการเห็นชอบจากที่ประชุม COP29 ซึ่งเปิดฉากขึ้นเมื่อวานนี้ที่กรุงบากู ของประเทศอาเซอร์ไบจาน โดยหนึ่งในผู้เจรจา เปิดเผยว่าการรับรองกรอบมาตรฐานดังกล่าว จะทำให้การสร้างตลาดคาร์บอนขององค์การสหประชาชาติสามารถเริ่มต้นได้เร็วที่สุดในปีหน้า



ในขณะที่บรรดาประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมการประชุมต่างตั้งความหวังว่าในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมจะสามารถบรรลุข้อตกลงทางการเงินใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้



อดีตผู้เจรจาด้านสภาพอากาศของเม็กซิโกรายหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันทำงานให้กับ อาเบเทเบิล (Abatable) บริษัทด้านการจัดเก็บข้อมูลตลาดคาร์บอนให้ความเห็นว่า การรับรองมาตรฐานคาร์บอนเครดิตนี้จะทำให้การสร้างตลาดคาร์บอนของโลกเข้าใกล้บรรลุผลสำเร็จมากขึ้น ก่อนที่ชาติใดชาติหนึ่งจะถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ



ซึ่งนั่นน่าจะหมายถึงสหรัฐอเมริกาเนื่องจากโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ ประกาศเอาไว้ว่าจะพาประเทศถอนตัวออกจากข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งได้มีการวางรากฐานสำหรับตลาดคาร์บอนเอาไว้



ทั้งนี้ ในทางทฤษฎี คาร์บอนเครดิต คือ การนำกลไกตลาดมาใช้เป็นแนวทาง เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยบริษัทต่าง ๆ สามารถจ่ายเงินให้กับโครงการใดก็ได้ในโลก ที่ทำหน้าที่ลดหรือกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศ เพื่อซื้อเครดิตมาชดเชยกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตัวเองได้ เช่น โครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์



การสร้างตลาดคาร์บอนยังจะเป็นอีกหนึ่งหนทางให้บริษัทต่าง ๆ ในสหรัฐฯ ได้มีส่วนร่วมกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมากขึ้น แม้ทรัมป์จะพาประเทศถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสแล้วก็ตาม



อย่างไรก็ดี ยังมีบางส่วนที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าการจัดทำข้อตกลงนี้ เนื่องจากมาตรฐานดังกล่าวได้รับการผลักดันและเห็นชอบจากผู้เชี่ยวชาญกลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้น ขณะที่บางประเทศบอกว่าพวกเขาไม่ได้ออกความคิดเห็นอย่างยุติธรรมในการกำหนดมาตรฐานขั้นสุดท้ายเลย



ส่วนทางกลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสภาพอากาศบอกว่า กรอบมาตรฐานดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมบางด้าน เช่น การปกป้องสิทธิมนุษยชนของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการนี้



ขณะเดียวกัน ทางด้านนายจอห์น โพเดสตา ผู้แทนด้านสภาพอากาศจากรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดนได้กล่าวแถลงในที่ประชุมเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ เดินหน้าต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศต่อไป แม้โดนัลด์ ทรัมป์จะกลับมาก็ตาม



นายโพเดสตายังบอกว่า ทรัมป์อาจจะสามารถชะลอการเปลี่ยนผ่านการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้ แต่เขาไม่สามารถหยุดยั้งความพยายามดังกล่าวได้



ขณะที่ ในวันนี้ เป็นวันที่ 2 ของการประชุม มีผู้นำและบุคคลสำคัญจากประเทศต่าง ๆ ตบเท้ามาร่วมงานมากมาย ยกตัวอย่างเช่น นายกรัฐมนตรีเคียร์ สตาร์เมอร์ ของสหราชอาณาจักร ประธานาธิบดีเรเจป ไตยิป เอร์โดอาน ของตุรกี และนายกรัฐมนตรีเปโดร ซานเชส ของสเปน



โดยนายกรัฐมนตรีเคียร์ สตาร์เมอร์ ได้ประกาศตั้งเป้าหมายใหม่ว่า สหราชอาณาจักรจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างน้อย 81% เมื่อเทียบกับระดับในปี พ.ศ. 2533 เพื่อปูทางสู่การสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ รวมถึงความเป็นอิสระด้านพลังงาน และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการยกระดับชีวิตของประชาชน



ส่วนทางด้านนายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการใหญ่ขององค์การสหประชาชาติได้ขึ้นเวที เรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ "จ่ายเงิน" เพื่อป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างเร่งด่วน และว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องที่ไม่สามารถต่อรองได้ และเวลาในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก "ใกล้จะหมดลงแล้ว"



นายกูเตร์เรสยังย้ำว่า ประเทศต่าง ๆ ต้องรักษาคำมั่นสัญญาทางการเงินมากกว่าที่เคย โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว ต้องเร่งทำงานเพื่อเพิ่มเงินทุนสำหรับจัดการกับปัญหา ด้านสภาพอากาศเป็น 2 เท่า อย่างน้อย 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ภายในปีหน้า

คุณอาจสนใจ

Related News