สิ่งแวดล้อม

ถุงผ้า…ใช้ผิดอาจกลายเป็นสร้างภาระให้กับโลก

โดย fahsai

29 ส.ค. 2567

61 views

           อย่างที่เราทราบกันดี เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563 ประเทศไทยได้ประกาศลดการใช้ถุงพลาสติกอย่างเป็นทางการ โดยความร่วมมือจากภาครัฐ ห้างสรรพสินค้าชั้นนำ และร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศ เพื่อลดปัญหาขยะพลาสติกที่ล้นจากพื้นดินสู่ท้องทะเลจนเป็นสาเหตุการตายของเหล่าสัตว์น้ำ โดยเปลี่ยนจากการใช้ถุงพลาสติกเป็นถุงผ้าแทน แม้จะช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกได้ถึง 14,349.6 ล้านใบ หรือ 81,531 ตัน ในช่วงปี 2563-2565 แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในปัจจุบันคนไทย ร้านค้าทั่วไป ร้านอาหาร กระทั่งตลาดสด

ส่วนใหญ่ยังคงใช้ถุงพลาสติกอยู่ บริการส่งอาหารจากออนไลน์ก็เป็นส่วนหนึ่งของการเกิดปัญหาขยะพลาสติก ซึ่งนั้นก็ยังไม่ได้ช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกได้อย่างแท้จริง มิหนำซ้ำยังเพิ่มปริมาณขยะพลาสติกอีกด้วย

          ส่วนของการรณรงค์นำถุงผ้ามาใช้แทนถุงพลาสติกนั้น ได้รับผลตอบรับที่ดีพอสมควรในประเทศไทย ถือเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเรา สามารถช่วยลดปริมาณขยะและปัญหาการย่อยสลายได้ แต่ก็มีข้อสงสัยอยู่ว่า การใช้ถุงผ้าจะดีกว่าถุงพลาสติกหรือถุงกระดาษ แล้วช่วยลดภาวะโลกร้อนกับปริมาณขยะพลาสติกได้จริงหรือไม่ ?

     วันนี้เราจะมาทำความรู้จักถุงแต่ละชนิดกัน ว่ามีที่มาอย่างไรและจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง

    ถุงพลาสติก เกิดจากสารตั้งต้นคือ ก๊าซ Ethylene และ Propylene ที่มาจากน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ เมื่อทำปฏิกิริยาจนเป็น โพลิเมอร์ นำไปสังเคราะห์ขึ้นรูปเป็นเม็ดพลาสติก และนำไปหลอมขึ้นรูปเป็นถุงพลาสติกชนิดต่าง ๆ  ถุงพลาสติกนั้นมีผลกระทบอย่างมากในการกำจัดและการย่อยสลาย ใช้ระยะเวลาในการย่อยสลายนานถึง 450 ปี ซึ่งถ้าเป็นการกำจัดด้วยการกลบทำให้ดินเป็นพิษและทำการเกษตรไม่ได้ ถ้าเป็นการเผา จะสร้างคาร์บอนไดออกไซด์ไปทั่วชั้นบรรยากาศ อีกทั้งส่งผลเสียต่อร่างกายมนุษย์จากการสูดดมก๊าซพิษจากการเผาขยะอีกด้วย

ถุงกระดาษ ผลิตจากพืชโดยใช้เยื่อไม้ แต่มีการนำผลิตภัณฑ์กระดาษรีไซเคิลมาใช้ด้วย โดยพืชที่ใช้ทำกระดาษส่วนใหญ่เป็นต้นยูคาลิปตัส ซึ่งต้นไม้ชนิดนี้มีผลต่อการทำลายดิน ทำให้ดินเสีย ผลกระทบที่ตามมาคือ บริเวณดินที่เคยปลูกยูคาลิปตัสไว้ หรือพื้นที่ใกล้เคียงถูกทำลาย ยากต่อการปลูกพืชยืนต้นชนิดอื่นได้ รวมถึงการถางป่าเพื่อปลูกยูคาลิปตัสเพิ่มเพื่อใช้ในการผลิต ซึ่งแลกไปด้วยการทำลายธรรมชาติที่มากขึ้น

ถุงผ้า ทำจากผ้าฝ้าย ซึ่งขั้นตอนในการเตรียมผลิต นั้นมีหลายขั้นตอน ซึ่งกว่าจะผลิตฝ้าย 1 กิโลกรัมต้องใช้น้ำประมาณ 10,000-20,000 ลิตร และการเตรียมพื้นที่สำหรับเพาะปลูก ซึ่งใช้ทรัพยากรค่อนข้างมาก  ส่งผลกระทบต่อการปลูกพืชที่เป็นอาหาร  โดยผลวิจัยในปี 2011 อ้างอิงจาก Mental Floss พบว่า การผลิต กระเป๋า หรือถุงผ้าฝ้าย 1 ใบจะทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ เฉลี่ย 598.6 ปอนด์ หรือ 271.5 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตถุงพลาสติก 1 ใบที่มีค่าเฉลี่ย 3.48 ปอนด์ หรือ 1.57 กิโลกรัม ถือว่าการผลิตถุงผ้าปล่อยก๊าซที่มีผลต่อภาวะโลกร้อนมากกว่าการผลิตถุงพลาสติกเสียอีก แต่ข้อดี สามารถใช้ซ้ำได้หลายครั้งกว่าถุงพลาสติกถึง 7,000 ครั้ง ซึ่งดีกว่าถุงพลาสติกที่ใช้แบบ Single-use และยังช่วยลดการใช้พลาสติกแบบสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น

          นอกจากถุงพลาสติก ถุงกระดาษ และถุงผ้าแล้ว ยังมีถุงอีกชนิดที่คล้ายกับถุงผ้า แต่มีความทนทานที่เทียบเท่าถุงผ้า โดยเรียกว่า ถุงสปันบอนด์  โดยเกิดจากเส้นใยสังเคราะห์ของโพลิเมอร์ที่เป็นพลาสติกในกลุ่มพอลิโพรพีลีน  (Polypropylene) โดยเนื้อผ้าสปันบอนด์นั้นจะเป็นแบบ Nonwoven หรือไม่ได้เกิดจากเทคนิคการถักทอขึ้นมาเป็นผืน แต่เป็นการฉีดเส้นใยฟีลาเมนท์สังเคราะห์แบบต่อเนื่อง (Continuous Filament) ผสมผสานรวมกับเส้นใยไฟเบอร์ และทำการผลิตผ่านกระบวนการทำความร้อน ให้เส้นใยเหล่านั้นเกิดลักษณะที่สานไขว้กันไป-มา และนำมาลำเลียงรวมกัน จากนั้นนำเส้นใยที่ได้มาทำการพิมพ์ขึ้นรูป จนได้ผลผลิตที่มีลักษณะเหมือนผืนผ้า ถือเป็นตัวเลือกใหม่ในอุตสาหกรรมการผลิตที่ใส่ใจกับสิ่งแวดล้อม ข้อดีของมันคือย่อยสลายได้ง่าย ใช้เวลาสั้นเพียง 5-10 ปี แต่ข้อเสีย มันไม่สามารถซักได้หลายครั้งเหมือนผ้าฝ้าย เนื่องจากผ้าสปันบอนด์ไม่ได้เกิดจากการทอเหมือนผ้าฝ้าย ถ้าซักบ่อยอาจทำให้เส้นใยเสื่อมจนฉีกขาด อีกทั้งไม่ทนต่อแสง UV ถ้าโดนรังสีมากจนเกินไปจะทำให้แตกตัวเป็นไมโครพลาสติก ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ได้ ถ้าใช้โดยไม่ระมัดระวังในข้อนี้  

         ในกรณีของสหรัฐอเมริกา การออกกฎหมายห้ามใช้ถุงพลาสติกส่งผลดีอย่างมาก ข้อมูลจากการรายงานขององค์กรไม่แสวงผลกำไรอย่าง Environmet America, US PIRG Education Fund และ Frontier Group (Plastic Bag Bans Work) พบว่า ปัจจุบันมีการใช้ถุงพลาสติกลดน้อยลงเป็นจำนวนกว่า 6 พันล้านใบต่อปี จากมีการสั่งห้ามใช้ถุงพลาสติกใน 3 รัฐ อย่าง นิวเจอร์ซีย์ เวอร์มอนต์ และฟิลาเดลเฟีย รวมถึง 2 เมืองอย่าง พอร์ตแลนด์ และ แซนตาบาร์บาราในอเมริกา ซึ่งเพียงแค่ส่วนหนึ่งก็สามารถทำให้ขยะพลาสติกลดลงได้อย่างมีนัย เช่น การกวาดล้างถุงขยะในชายหาด และฝั่งทะเลของรัฐนิวเจอร์ซีย์ รายงานว่า ถุงถูกทิ้งน้อยถึง 46% หลังจากมีการสั่งห้าม และช่วยฟื้นฟูสภาพท้องทะเล และสัตว์ทะเลได้เป็นอย่างดี บริษัทบางแห่งเปลี่ยนเป็นถุงแบบใช้ครั้งเดียวที่ต้องมีค่าธรรมเนียมอย่างเช่น ถุงผ้า หรือถุงที่ทำจากวัสดุหนาทนทาน และ

รีไซเคิลได้ หรือร้านค้าเล็ก ๆ เจ้าอื่นก็นิยมใช้ถุงกระดาษเป็นส่วนมาก ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ขยะถุงพลาสติกต่อคนมีจำนวนลดลง  

        กับคำถามที่ว่า “ใช้ถุงผ้า ช่วยลดหรือเพิ่มภาระให้โลกกันแน่ ?”  ท้ายที่สุดแล้ว การเลือกใช้ถุงผ้าตอบโจทย์ต่อการลดขยะพลาสติกระยะยาวได้ โดยสามารถใช้ซ้ำได้กว่า 7,000 ครั้ง ซึ่งสามารถลดขยะพลาสติกเฉลี่ย 7,000 ตันต่อวัน อย่างไรก็ตามแม้ว่าการใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติกมีข้อดีกว่า แต่ไม่ว่าจะเป็นถุงผ้าหรือถุงชนิดใด ๆ ก็ตามที่เลือกนำมาใช้แทนถุงพลาสติก  เราควรนำกลับมาใช้ซ้ำอย่างมีคุณค่า เพราะต่อให้ทุกคนใช้ถุงผ้า แต่ถ้าใช้โดยเพียงครั้งเดียวแล้วทิ้งมันไป ก็ถือเป็นการเพิ่มภาระให้โลกของเราอยู่ดี เพราะทุกอย่างมีต้นทุนในการผลิตทรัพยากรนั้น ๆ ถ้าคุณใช้ถุงผ้าอยู่แล้ว ขอให้คุณใช้ซ้ำต่อไปเรื่อย ๆ และไม่รับถุงใหม่มาเพิ่ม สำหรับใครที่คิดจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ ให้คุณเริ่มจากการใช้ถุงที่มีอยู่ให้คุ้มค่ามากที่สุด แยกขยะให้ถูกต้องเพื่อนำไปรีไซเคิล แล้วนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้โดยไม่สร้างภาระต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อรักษาสมดุลธรรมชาติให้อยู่กับพวกเราได้นานมากที่สุด







อ้างอิง :

https://www.bangkokbiznews.com/blogs/business/business/1102516

https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/2775828

https://www.thairath.co.th/scoop/interview/2736754

https://jinpiin.com/bag-tips/what-is-spun-bonded/

https://www.sunstoreonline.com/content/31087/%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89-%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%96%E0%B8%B8%E0%B8%87%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%81-



คุณอาจสนใจ

Related News