สิ่งแวดล้อม

ขยะอาหาร ความสิ้นเปลืองและตัวการโลกร้อนที่เรามองข้าม

โดย fahsai

10 พ.ค. 2567

140 views

อาหารเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดํารงชีวิตของมนุษย์ เป็นสิ่งหล่อเลี้ยงร่างกายให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ในแต่ละวันและทำให้มีอายุขัยอยู่ได้ยาวนาน ในทุกวันทุกคนต้องคำนึงถึงการบริโภคอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย แต่จะมีใครเคยนับหรือไม่ว่าในแต่ละวัน เรากินอาหารเหลือกันมากแค่ไหน หากทุกคนกินอาหารเหลือจะมีปริมาณขยะอาหารมากมายเท่าไหร่ และจะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร

    สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รายงานว่าคนไทยหนึ่งคนสร้างขยะอาหารถึง 146 กิโลกรัมต่อปี ปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณขยะอาหารเกิดขึ้นประมาณ 9.7 ล้านตันต่อปี รวมถึงทั่วโลกที่กำลังเผชิญกับปัญหาขยะอาหารและอาหารส่วนเกินเช่นกัน ปัญหาขยะอาหารที่กำลังทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ UN กำหนดให้การลดขยะอาหารเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เมื่อปี 2558 และกำหนดเป้าหมายลดขยะอาหารในระดับค้าปลีกและบริโภคทั่วโลกลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2573 ในด้านของประเทศไทย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 มกราคม 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567 ได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนที่นำทางการจัดการขยะอาหาร (พ.ศ. 2566 - 2573) เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายที่ยั่งยืน (SDGs) เพื่อลดขยะอาหารของโลกลงครึ่งหนึ่ง ภายในปี พ.ศ. 2573 และ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะอาหาร ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566 - 2570) จัดทำโดยกรมควบคุมมลพิษ เพื่อลดปริมาณการสูญเสียอาหารและลดขยะอาหาร ซึ่งเป็นกรอบและทิศทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการจัดการขยะอาหารของประเทศทั้งระบบ รวมทั้งมีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านโภชนาการแห่งชาติ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566 - 2570) จัดทำโดยกรมอนามัย เพื่อลดจำนวนคนขาดแคลนอาหาร และลดจำนวนคนที่มีภาวะโภชนาการทั้งขาดและเกิน ใช้เป็นแผนชี้นำการดำเนินงานส่งเสริม ให้ความรู้ สร้างความตระหนักเพื่อการปรับพฤติกรรมการบริโภคอาหารของผู้บริโภคได้อย่างเหมาะสม โดยแผนทั้งสองฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางปฏิบัติให้บรรลุผลตามเป้าหมายระดับชาติภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566 - 2570)

    จะเห็นได้ว่าทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับปัญหาขยะอาหาร เพราะนอกจากเป็นขยะอินทรีย์ที่สร้างความเน่าเหม็นในถังขยะ เป็นแหล่งบ่มเพาะเชื้อโรค ยังสร้างมลพิษที่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการสร้างแก๊สเรือนกระจกอย่างแก๊สมีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์ที่ก่อให้เกิดภาวะโรคร้อน

ปัญหาขยะอาหารเกิดจากอาหารที่เหลือจากการบริโภคในครัวเรือน ส่วนหนึ่งเกิดจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีการนำอาหารมากักตุนไว้จำนวนมาก  ไม่มีการวางแผนในการบริโภค จนทำให้อาหารหมดอายุและต้องนำไปทิ้ง การจัดเตรียมอาหารในแต่ละมื้อในปริมาณมากจนกินไม่หมด ตลอดจนอาหารที่เหลือจากการจำหน่ายในร้านค้าปลีก อาหารบุฟเฟต์และอาหารที่ใช้เพื่อปรุงแต่งจานในร้านอาหารหรือโรงแรม  ขยะที่สร้างขึ้นในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม จากกระบวนการผลิตที่มีวัตถุดิบเหลือใช้ และการจัดเก็บวัตถุดิบที่ไม่ดีทำให้เกิดการเน่าเสีย

วิธีการลดปริมาณขยะอาหารได้ที่ดีที่สุด คือ การบริโภคอาหารให้หมดโดยเริ่มตั้งแต่จานของเรา เพราะอาหารที่ถูกกินจนหมดในทุกมื้อ สามารถช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ลดการสะสมของเชื้อโรคตั้งแต่ถังขยะไปจนถึงบ่อพักขยะ แต่หากหลีกเลี่ยงการสร้างขยะอาหารไม่ได้จริง ๆ เราสามารถแยกขยะอาหารไม่ให้ปะปนกับขยะประเภทอื่น ตลอดจนหาแนวทางการกำจัดขยะอาหารที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ช่วยลดภาระแก่สังคมอันนำไปสู่ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม โดยที่ทุกคนสามารถทำได้โดยไม่ต้องลงทุนเยอะ เช่น นำผักไปปลูกใหม่  ผักบางชนิดยังเหลือต้นและรากให้สามารถนำกลับไปปลูกใหม่ได้อีก อาทิ โหระพา สะระแหน่ เป็นต้น นำเศษอาหารไปเลี้ยงสัตว์ เช่น  เป็ด ไก่ ปลา  นำไปทำปุ๋ยหรือน้ำหมักชีวภาพ หรือแม้กระทั่งนำไปใช้ประโยชน์อื่น ๆ  เช่น นำกากกาแฟไปดูดกลิ่นไม่พึงประสงค์ หรือขัดผิวกาย  ตลอดจนสามารถคัดแยกอาหารที่ยังบริโภคได้และเศษอาหาร นำไปบริจาคด้วยตนเองหรือผ่านหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อส่งต่อไปยังหน่วยงานหรือผู้ที่ต้องการต่อไป

จากเรื่องที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ ในจานอาหารของเรา รวมไปถึงวัตถุดิบที่เหลือจากกระบวนการปรุงอาหารในครัว กลับกลายเป็นปัญหาระดับโลกได้  เพราะอาหารมีเวลาในการเก็บรักษาระยะสั้นและมีอาหารที่กลายเป็นขยะทุก ๆ วัน มากตามจำนวนของประชากร ดังนั้นหากเราทุกคนช่วยกันลดปริมาณขยะอาหาร แยกประเภทขยะ และจัดการขยะอาหารอย่างเหมาะสม ย่อมส่งผลที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมของเราอย่างยั่งยืน ถ้าทุกคนช่วยกัน เชื่อว่าทุกการเริ่มต้น จะช่วยเปลี่ยนแปลงโลกของเราให้ดีขึ้นได้แน่นอน





ที่มา


https://www.onep.go.th/23-%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%A1-2567-food-waste-%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%8D%E0%B9%88%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%8B%E0%B9%88/

https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/02/205495/

https://sciplanet.org/content/8436

https://www.unileverfoodsolutions.co.th/th/chef-inspiration/sustainable-restaurants/7-ways-to-reduce-food-waste.html

คุณอาจสนใจ

Related News