เศรษฐกิจ

กกพ.ขานรับ ชงนายกฯลดค่าไฟ 17 สตางค์ เหลือ 3.98 บาท/หน่วย ประหยัดกว่า 3.3 หมื่นล้านบาท

โดย petchpawee_k

17 ม.ค. 2568

145 views

กกพ. เสนอลดค่าไฟทันที 17 สตางค์ เป็นข้อเสนอค้างเก่าตั้งแต่ปี 65 โยนนายกรัฐมนตรีใช้อำนาจ หาทางตัดค่าใช้จ่ายนโยบายภาครัฐออกทั้งหมด ยึดหลักสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง คืนความเป็นธรรมให้กับประชาชน จ่ายค่าไฟเพียงหน่วยละ 3.98 บาท

วานนี้ 16 ม.ค.2568 นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ สำนักงาน กกพ.ในฐานะโฆษก กกพ.เปิดเผยว่า ในการประชุม กกพ. ครั้งที่ 2/2568 (ครั้งที่ 943) เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2568 กกพ. มีมติให้สำนักงาน กกพ. นำเสนอทางเลือกให้ภาคนโยบายทบทวนและปรับปรุง เงื่อนไขการสนับสนุนทั้งในรูปแบบส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า(Adder) และ Feed in Tariff (FiT) ผ่านการอุดหนุนราคารับซื้อไฟฟ้าในกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP :เอสพีพี) และกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) เพื่อให้การอุดหนุน Adder และ Feed in Tariff (FiT) สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และทำให้ค่าไฟสามารถปรับลดลงได้ทันทีประมาณหน่วยละ 17 สตางค์ จากค่าไฟฟ้าในปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่หน่วยละ 4.15 บาท ซึ่งเป็นแนวคิดหนึ่งในช่วงวิกฤตการณ์ราคาพลังงาน และกกพ. ได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในสมัยรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งมีความพยายามในการ หาแนวทางนำมาใช้อยู่ช่วงหนึ่ง

โดยกกพ. จะทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีโดยเร็วที่สุด เพื่อให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจที่มีในการหาแนวทางใช้มาตรการดังกล่าว ซึ่งอาจจะใช้มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) หรือหารือครม. หรือต้องกำหนดเกณฑ์ให้ Adder ใหม่ เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องหาทาง แต่มองว่ามีช่องให้ทำได้

ที่ผ่านมา การรับซื้อไฟฟ้าจากกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าดังกล่าวข้างต้น เมื่อครบกำหนดอายุสัญญารับซื้อไฟก็ได้รับการต่อสัญญาในเงื่อนไขเดิมและให้ได้รับการอุดหนุนราคารับซื้อมาอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายเดิมที่ต้องการสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก และรองรับปริมาณความต้องการเพิ่มปริมาณไฟฟ้าสะอาดเข้ามาในระบบให้มากขึ้นปัจจุบันผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง มีความพร้อม สามารถรับมือกับการแข่งขันในธุรกิจไฟฟ้าได้ดี ท่ามกลางการแข่งขันและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่ทำให้เกิดการลดลงต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง จึงน่าจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเสนอให้ทบทวนเงื่อนไขการรับซื้อดังกล่าว

ทั้งนี้ช่วงต้นปี 2565 เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติเหลวพุ่งสูงขึ้นเกือบ 6 เท่าตัว กกพ.แก้ปัญหาเพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าหลายประการ และมีประการหนึ่งที่ยังไม่ได้ดำเนินการนั่นคือ กกพ. มีมติเมื่อเดือนตุลาคม 2565 เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ตามมาตรา 11(12) โดยขอให้ฝ่ายนโยบายจัดการกับต้นทุนค่าไฟฟ้าในส่วนค่าใช้จ่ายตามนโยบายรัฐ (Policy Expense) อันประกอบด้วย โครงการAdder และ Feed in Tariff (FiT) ซึ่งมีต้นทุนการรับซื้อไฟฟ้าสูงกว่าราคาต้นทุนจริงในภาวะปัจจุบัน และโครงการผลิตไฟฟ้าแบบ Adder เหล่านี้ไม่มีวันสิ้นสุดสัญญา เป็นเหตุให้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าโดยไม่จำเป็น และเป็นหน้าที่ กกพ. ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มาตรา 65(1)

เนื่องจากผู้ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าผ่านจุดคุ้มทุนแบบ Adder และได้รับค่าตอบแทนจากโครงการพอสมควร จึงควรปรับค่าไฟฟ้าให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง อีกทั้งการรับซื้อไฟฟ้าในอดีตหน่วยละ 11.1617 บาท เพราะอุปกรณ์การผลิตไฟฟ้าจากแผงพลังงานแสงอาทิตย์มีต้นทุนสูง แต่ในปัจจุบันราคาอุปกรณ์ดังกล่าวลดลงมาก ราคาไฟฟ้าที่รัฐรับซื้อควรลดลงตามมาด้วยเช่นกัน หรือแม้โครงการผ่าน 10 ปีและเงินอุดหนุน 8 บาทหมดไปแล้ว แต่ราคารับซื้อก็ยังอยู่ที่ 3.1617 บาท ซึ่งแพงกว่าราคาที่ สนพ. คำนวณในปี 2565 หน่วยละ 2.1679 บาท ซึ่งมีส่วนต่างเป็นเงินหน่วยละ 0.9938 บาท ถือเป็นกำไรที่ผู้ประกอบการไม่ควรได้รับ ประการสำคัญสัญญารับซื้อไฟฟ้าในกลุ่มนี้ระบุว่าให้ต่อสัญญาโดยอัตโนมัติ หมายความว่า ไม่มีวันสิ้นสุดสัญญา หากไม่มีการปรับปรุงอัตราการรับซื้อไฟฟ้าให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ผู้ประกอบกิจการก็จะได้กำไรเกินควร อันเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนโดยไม่มีวันสิ้นสุด

ซึ่งจากการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนกรณีค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) งวดเดือนมกราคม -เมษายน 2568 ได้ระบุค่าใช้จ่ายภาครัฐ (Policy Expense) จากการรับซื้อไฟฟ้าในกลุ่ม Adder และ FiT รวมอยู่ในค่าไฟฟ้าหน่วยละ 17 สตางค์ หากคณะรัฐมนตรีหรือ กพช. กำหนดนโยบายปรับค่าไฟฟ้ารับซื้อในส่วนนี้ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ก็จะลดค่าไฟฟ้าได้ทันที่ 17 สตางค์ หากค่าไฟฟ้าหน่วยละ 4.15 บาท ก็จะลดลงเหลือหน่วยละ 3.98บาท

จากประมาณการตลอดทั้งปี 2568 คาดว่าจะมีการใช้ไฟฟ้า 195,000 ล้านหน่วย หากลดได้หน่วยละ 17 สตางค์ จะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนได้ 33,150 ล้านบาท

ด้านนายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา กรรมการกำกับกิจการพลังงาน แจงกรณีมีการแพร่ข่าวให้ประชาชนเกิดความเชื่อเข้าใจผิด โดยบิดเบือนว่าการจัดหาไฟฟ้าราคาหน่วยละ 2.1679 บาท จะทำให้ค่าไฟฟ้าตามบ้านเรือนแพง ซึ่งคำว่า ”ค่าไฟฟ้าแพง“ ส่งผลให้ประชาชนต่อต้านจนการดำเนินโครงการประสบปัญหา


ซึ่งในความเป็นจริง การรับซื้อไฟฟ้าหน่วยละ 2.1679 บาท ไม่ได้ทำให้ค่าไฟบ้านแพง เพราะไฟฟ้าส่วนนี้ผลิตมาเพื่อขายให้กับนักลงทุนที่ต้องการใช้พลังงานสะอาดและมีอัตราที่สูงกว่าไฟบ้าน ฉะนั้นแม้ยกเลิกการรับซื้อไฟฟ้าหน่วยละ 2.1679 บาทไปแล้ว ก็ไม่ได้ทำให้ค่าไฟบ้านถูกลง เพราะค่าไฟฟ้าจากกลุ่ม Adder (แอ๊ดเด้อ) และ FiT (เอฟไอที) ซึ่งมีราคาหน่วยละ 3.1617 ถึง 11.1617 บาทฝังอยู่กับค่าไฟบ้าน ส่วนอัตราค่าไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่ กกพ. จัดหาไปแล้วนั้น ไปคิดกับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ แสดงให้เห็นว่าผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งสองส่วนนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกันในเรื่องของราคาค่าไฟ

นอกจากนี้กกพ. เตรียมทำหนังสือถึงผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเพื่อให้กวดขันเรื่องการพิจารณาขายไฟให้กับผู้ใช้ไฟในพื้นที่ที่มีความสุ่มเสี่ยงในการเป็นฐานของแหล่งคอลเซ็นเตอร์ มิจฉาชีพ และพื้นที่ยาเสพติดให้มากขึ้น หากพบว่ามีปัญหาให้ดำเนินการตัดไฟทันที

รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/SqOH9dKA9ZI

แท็กที่เกี่ยวข้อง  ค่าไฟ ,ลดค่าไฟ ,กกพ. ,ค่าไฟแพง

คุณอาจสนใจ