เศรษฐกิจ

ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรับปีใหม่! เปิด 4 จังหวัด 1 อำเภอ ขึ้นสูงสุด 400 บาท

โดย passamon_a

24 ธ.ค. 2567

134 views

มติเอกฉันท์ บอร์ดไตรภาคี ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 7-55 บาท ทั่วประเทศ แบ่งเป็น 17 อัตรา สูงสุด 400 บาท ได้แก่ ภูเก็ต-ฉะเชิงเทรา-ชลบุรี-ระยอง-เกาะสมุย มีผล 1 ม.ค.2568 เปิดตารางปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 77 จังหวัด


เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.67 หลังการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง หรือ ไตรภาคี ชุดที่ 22 ครั้งที่ 11/2567 นานร่วม 5 ชั่วโมง นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการ เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นชอบการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2568 โดยให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มวันละ 7 ถึง 55 บาท หรือเฉลี่ย 2.9% แบ่งเป็น 17 อัตรา ซึ่งพิจารณาจากค่าครองชีพและโครงสร้างทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โดยมีอัตราสูงสุดคือ วันละ 400 บาท และอัตราต่ำสุดคือ วันละ 337 บาท ให้มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป และจะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ (24 ธ.ค.67) โดยมีรายละเอียดดังนี้


1. กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท ใน 4 จังหวัด และ 1 อำเภอ ได้แก่ ภูเก็ต, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ระยอง และอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ด้วยเป็นพื้นที่เศรษฐกิจหลัก ด้านการท่องเที่ยว และการลงทุนต่างชาติอย่าง EEC


2. กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 380 บาท ในอำเภอเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา


3. กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 372 บาท ในเขตท้องที่กรุงเทพฯและปริมณฑล รวม 6 จังหวัด หรือเพิ่มขึ้น 2.5%


4. กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 67 จังหวัดที่เหลือ ให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 2%


การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นในครั้งนี้ เป็นการปรับเพื่อให้แรงงานทั่วไปและแรกเข้าทำงาน สามารถดำรงชีพอยู่ได้ตามสมควรแก่มาตรฐานการครองชีพ สภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน รวมทั้งเหมาะสมตามความสามารถของธุรกิจในท้องถิ่นนั้น ซึ่งการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้จะทำให้ลูกจ้างได้รับประโยชน์จำนวน 3,760,697 คน


ส่วนที่ไม่สามารถขึ้นได้ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจและความสามารถของผู้ประกอบการ และนอกจากนี้ที่ประชุมได้เห็นตรงกันว่า หลังจากนี้การพิจารณาขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำควรมีปีละ 1 ครั้งเท่านั้น อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจ ณ ขณะนั้นด้วย ซึ่งหมายความว่าในปี 2568 อาจจะมีการพิจารณาอีกครั้งหรือไม่ ก็ต้องดูตามสถานการณ์


ทั้งนี้คณะกรรมการไตรภาคีชุดที่ 22 จะหมดวาระในเดือนมีนาคม 2568 หลังจากนั้นจะมีการแต่งตั้งขึ้นใหม่ทั้งหมด และนับว่าคณะกรรมการไตรภาคีชุดที่ 22 เป็นคณะกรรมการชุดที่ประกาศปรับขึ้นค่าจ้างมากที่สุด คือ 3 ครั้ง


ด้านผู้ประกอบการและนายจ้างต่างพอใจกับผลการพิจารณา ซึ่งผู้ประกอบการเองก็ได้เรียกร้องให้รัฐบาลมีมาตรการเยียวยานายจ้างควบคู่ด้วย ซึ่งกระทรวงจะนำเสนอถึงที่ประชุมคณะรัฐมนตรีภาพกว้างในแง่หลักการก่อนที่จะมาใส่รายละเอียดกันในภายหลัง ขณะที่นายวีรสุข แก้วบุญปันกรรมการไตรภาคีฝ่ายลูกจ้างถึงกับยกนิ้วโป้งให้ และบอกว่าพอใจที่สุดในโลก  


สำหรับ ปี 2568 คณะกรรมการค่าจ้างฯ ได้กระจายอำนาจการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไปยังภูมิภาค โดยคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด รวม 77 คณะ เพื่อนำข้อเสนอแนะอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัดมาพิจารณาประกอบข้อเท็จจริงตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2560 มาตรา 87 แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ด้านความจำเป็นในการครองชีพของลูกจ้าง / กลุ่มที่ 2  ด้านความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง / กลุ่มที่ 3  ด้านเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม โดยพิจารณาจากค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญ เพื่อให้ลูกจ้างมีค่าจ้างที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต และพิจารณาอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาค รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย เพื่อให้นายจ้าง/ลูกจ้าง สามารถประกอบธุรกิจและดำรงชีวิตอยู่ได้ ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานจะได้นำเรื่องนี้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ต่อไป


รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/-hNEm3caq-I

คุณอาจสนใจ