เศรษฐกิจ
สศช. เผยจีดีพีไตรมาส 3 ขยายตัว 3% ทั้งปี 67 ขยายตัว 2.6%
โดย gamonthip_s
18 พ.ย. 2567
36 views
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. แถลง “รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 และแนวโน้มปี 2567-2568” โดย จีดีพีไตรมาส 3 ขยายตัว 3% เพิ่มขึ้นจาก 2.2% ในไตรมาส 2 ปี 67 ทำให้ในช่วง 9 เดือนแรกขยายตัว 2.3% โดยมีปัจจัยหลายด้านเริ่มขยายตัวดีขึ้น ทั้งการรัฐลงทุนเพิ่ม 25.9% จากการเร่งรัดการเบิกจ่ายในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่การบริโภคเอกชน เติบโต 3.4%
สำหรับปริมาณการส่งออกขยายตัว 7.5% เป็นผลมาจากการส่งออกข้าว ยางพารา และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์เป็นหลัก โดยคาดว่าแนวโน้มไตรมาส 4 จะยังขยายตัวต่อเนื่องไปถึงไตรมาสแรกของปี 68
ขณะที่ภาคการท่องเที่ยว คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยว 36 ล้านคน ซึ่งลดลง เล็กน้อยจากการประมาณครั้งก่อน สร้างรายได้ 1.50 ล้านล้านบาท
ขณะที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกันยายน ปี 67 อยู่ที่ 243,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หนี้สาธารณะ 63.3% ของจีดีพี หรือคิดเป็น 11.63 ล้านล้านบาท จึงคาดการณ์ จีดีพีในปี 67 ทั้งปี ขยายตัว 2.6% จากเดิมตั้งเป้าหมาย 1.9% ในช่วงไตรมาสก่อน โดยอัตราเงินเฟ้อ 0.5% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.5% ของจีดีพี
ส่วนจีดีพีในปี 68 ขยายตัว 2.3%-3.3% ค่ากลาง 2.8% มาจากการเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายภาครัฐ การขยายตัวของอุปสงค์ภาคเอกชนในประเทศ ตามแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน และการขยายตัวต่อเนื่องของการอุปโภค บริโภคภาคเอกชน การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว และการขยายตัวต่อเนื่องของการส่งออกสินค้า
ทั้งนี้ คาดว่าการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 3% และ 2.8% การส่งออกขยายตัว 2.6% และเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 0.3 - 1.3% ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.6% ของจีดีพี
ขณะเดียวกัน จะต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงจากนโยบายเศรษฐกิจของ "ทรัมป์" ในการเพิ่มภาษีนำเข้าจากจีน และประเทศต่างๆ จะมีความรุนแรงอย่างไร เพิ่มภาษีสินค้าอะไรบ้าง และระยะเวลาปรับเพิ่มในช่วงใด ซึ่งจะสร้างความผันผวนให้กับเศรษฐกิจโลกขยายตัวลดลง รวมทั้งปัญหาการทุ่มตลาดสินค้าจีน จากสินค้าราคาถูก ทำให้เอสเอ็มอีไทยได้รับผลกระทบ และความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ที่จะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันและค่าเงิน
นอกจากนี้ รัฐบาลต้องผลักดันการลงทุนภาคเอกชน เร่งรัดการลงทุนที่ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอในปี 65-67 การดูแลผลกระทบต่อภาคเกษตร การเร่งรัดส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูป การช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้เข้าถึงสภาพคล่อง
ส่วนปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ขณะนี้กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และ สศช. กำลังหามาตรการมาช่วยแก้ปัญหากลุ่มเปราะบาง จะให้แต่ยอมรับว่า หนี้ครัวเรือนเมื่ออยู่ในระดับสูงเมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะหาแนวทางลดนั้นทำได้ยาก ดังนั้นจึงต้องดูมาตรการของรัฐที่ออกมาว่ามีผลในการลดหนี้มากน้อยแค่ไหน ขณะที่นโยบายทางการเงินในปีหน้าให้เป็นหน้าที่ของ ธปท.
สำหรับการโอนเงินหมื่นให้กลุ่มเปราะบางในช่วงสิ้นเดือนกันยายน จะเห็นผลชัดเจนในช่วงไตรมาส 4 ส่วนกรณีที่กระทรวงการคลัง เตรียมช่วยเหลือกลุ่มผู้สูงอายุในปลายปีนี้ แต่ยังต้องดูจำนวนผู้สูงอายุ และรายละเอียดอื่นๆ ซึ่งจะมีการประชุมในบอร์ดกระตุ้นเศรษฐกิจในวันพรุ่งนี้ (19 ก.ย. 67) ทั้งนี้ สำหรับการประเมินการใช้จ่ายทางกระทรวงการคลัง สำนักงานสถิติ และ สศช. จะร่วมมือทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างว่ามีการใช้จ่ายอย่างไร แต่ยอมรับว่า เนื่องจากเป็นการจ่ายเงินสด จึงประเมินได้ยาก
สำหรับการโอนเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทในปีหน้า ต้องดูช่วงเวลาให้เหมาะสม และดูสถานการณ์ในช่วงถัดไป เพราะมีความเสี่ยงหลายด้านจำนวนมาก ดังนั้นการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจึงต้องตรงเป้าหมายมากขึ้น และต้องหารือกันให้ชัดเจนอีกครั้ง
แท็กที่เกี่ยวข้อง เศรษฐกิจ ,ไตรมาส3