เศรษฐกิจ

4 อดีตผู้ว่าฯ ธปท.ร่วมกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ แถลงค้านการเมืองครอบงำแบงก์ชาติ ล่าชื่อคัดค้าน พุ่ง 400 คน

โดย petchpawee_k

1 พ.ย. 2567

1.3K views

 4 อดีตผู้ว่าฯ ธปท.ร่วมกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ แถลงค้านการเมืองครอบงำแบงก์ชาติ ยอดชื่อคัดค้าน พุ่ง 400 คน

วานนี้ ( 31 ตุลาคม 2567)  มีรายงานว่า 227 นักวิชาการ และกลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ออกแถลงการณ์ห่วงใยธนาคารแห่งประเทศไทย ถูกแทรกแซงจากกลุ่มการเมือง เพื่อผลประโยชน์ระยะสั้น ทําลายเสถียรภาพและความน่าเชื่อถือของประเทศในระยะยาว โดยแถลงการณ์ระบุว่า

"แถลงการณ์คัดค้านการครอบงำธนาคารแห่งประเทศไทยโดยกลุ่มการเมือง"

ในวันที่ 4 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ จะมีการประชุมเพื่อคัดเลือกประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสองท่านในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางว่ารัฐบาลได้เสนอชื่อบุคคลที่มีความใกล้ชิดกับฝ่ายการเมืองให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย

กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคมและภาคส่วนต่างๆ ในสังคมมีความกังวลอย่างยิ่งถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หากการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศถูกครอบงำโดยฝ่ายการเมืองซึ่งอาจเน้นเพียงผลประโยชน์ระยะสั้น เพื่อแสดงผลงานที่รวดเร็วเพราะมีความเสี่ยงทางการเมืองที่อาจดำรงตำแหน่งได้ไม่ยืนยาวนัก

ในขณะที่การเน้นผลระยะสั้นนั้นอาจก่อให้เกิดผลเสียหายรุนแรงต่อเสถียรภาพและการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจในระยะยาว การรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจเป็นภารกิจหลักของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งตามหลักสากลธนาคารกลางควรมีอิสระในการดำเนินนโยบายเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและเป็นประโยชน์สูงสุดของประเทศ อันนำไปสู่ความมั่นคงที่ยั่งยืนในระยะยาว

บทบาทของคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยครอบคลุมภารกิจสำคัญหลายด้าน ได้แก่ การกำกับดูแลการบริหารงานภายในองค์กร การบริหารจัดการทุนสำรองระหว่างประเทศ และการคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการนโยบายที่สำคัญ เช่น คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

ซึ่งมีบทบาทในการกำหนดอัตราดอกเบี้ย อันเป็นเครื่องมือสำคัญของการดำเนินนโยบายการเงิน หรือคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลสถาบันการเงินของประเทศ ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและต้องการการกำกับดูแลที่โปร่งใสและปราศจากผลประโยชน์ทางการเมือง

หากประธานกรรมการหรือคณะกรรมการใช้อำนาจที่มีตอบสนองผลประโยชน์ระยะสั้นของฝ่ายการเมือง จะส่งผลเสียต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และอาจเกิดความเสียหายที่ไม่สามารถแก้ไขหรือย้อนกลับได้

นอกจากนี้ หากการครอบงำครั้งนี้ประสบความสำเร็จ ก็มีแนวโน้มว่าฝ่ายการเมืองจะใช้วิธีเดียวกันในการคัดเลือกผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วงกลางถึงปลายปีหน้า โดยส่งบุคคลที่มีความสนิทชิดใกล้ทางการเมืองเข้ามาดำรงตำแหน่งเพื่อประโยชน์ทางการเมือง

กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคมขอเรียกร้องให้คณะกรรมการคัดเลือกที่กำลังจะทำการพิจารณาในวันที่ 4 พฤศจิกายนนี้ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต เที่ยงธรรม โปร่งใส และมีธรรมาภิบาล โดยไม่ยอมรับแรงกดดันจากการเมือง เพื่อรักษาสถาบันที่สำคัญอย่างธนาคารแห่งประเทศไทยที่สังคมไทยในอดีตได้ร่วมกันพัฒนาและปกป้องมาอย่างดี

พร้อมกันนี้เราขอเชิญชวนภาคส่วนอื่นในสังคมร่วมแสดงจุดยืนโดยการร่วมลงนามในด้านล่างของแถลงการณ์นี้ เพื่อคงไว้ซึ่งความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทยให้หลุดพ้นจากผลประโยชน์ระยะสั้นทางการเมืองและสามารถรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจไทยในระยะยาว รวมทั้งธำรงไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในสายตาของนานาอารยะประเทศ

ขณะที่ น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีแถลงการณ์ของนักวิชาการกลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ตลอดจนอดีตผู้ว่าการ ธปท. ที่แสดงความเป็นห่วงต่อการถูกครอบงำ และการแทรกแซงทางการเมือง ในการคัดเลือกประธานกรรมการ ธปท. ว่า ถือเป็นการส่งผ่านความห่วงใย และความกังวลไปยังคณะกรรมการคัดเลือก ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 4 พ.ย.นี้

แต่จากนี้คงต้องรอดูการพิจารณาของ คณะกรรมการคัดเลือก ก่อนว่าผลจะออกมาอย่างไร ซึ่งตำแหน่งประธานกรรมการ ธปท. โดยหลักแล้วจะเป็นเรื่องการบริหารงานเป็นส่วนใหญ่ เพราะการตัดสินนโยบาย จะมีคณะกรรมการนโยบายภายใต้กฎหมายอยู่

สำหรับความกังวลว่าประธานกรรมการ ธปท. จะเข้ามาแทรกแซงการทำงานของ ธปท. ในอนาคตได้หรือไม่นั้น น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า ในแง่กฎหมายและโครงสร้างที่มีอยู่ จะมีการตรวจสอบ ถ่วงดุล รวมทั้งมีกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ชัดเจนในระดับหนึ่งอยู่แล้ว



รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/aqdkUi3J3TI

คุณอาจสนใจ

Related News