เศรษฐกิจ
นักเศรษฐศาสตร์ชี้ เงินบาทแข็งน่าห่วง ผลเสียมากกว่าผลดี กระทบท่องเที่ยว หวั่นหลุด 32 บาท/ดอลลาร์
โดย petchpawee_k
25 ก.ย. 2567
70 views
วานนี้ ( 24 ก.ย.67) ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า การลดดอกเบี้ยของจีน อีกด้านทำให้ประเทศไทยเผชิญแรงกดดันจากค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากขึ้น ภายใต้หลายประเทศที่เริ่มเห็นการลดดอกเบี้ยมากขึ้น ทำให้เงินทุนไหลเข้าไทยมากขึ้น เช่นเดียวกันการดำเนินนโยบายการเงิน ที่ไทยจะต้องเผชิญกับแรงกดดันมากขึ้นในการดำเนินนโยบายการเงิน
“ผลที่เห็นส่งผ่านมาสู่ค่าเงิน คือ การที่หลายประเทศลดดอกเบี้ย หรือจีน ที่วันนี้เรายังแข็งค่ากว่าหลายประเทศ ดังนั้น การขายสินค้าพวกนี้ก็จะขายของได้ถูกลง เทียบกับคนอื่นๆ ทำให้ต้องเผชิญกับความสามารถการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ที่จะเป็นประเด็นที่ต้องจับตามากขึ้น” ดร.พิพัฒน์ กล่าว
ขณะที่ ดร.นริศ สถาผลเดชา ประธานกลุ่มงาน Data และ Analytics ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต กล่าวว่า สำหรับค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง มองว่าน่าห่วง เพราะการแข็งค่าของเงินบาท หากเทียบกับประเทศในภูมิภาคทำให้สินค้าไทย การท่องเที่ยวในไทยแพงขึ้นในสายตาต่างชาติ ดังนั้นมองว่ามีผลกระทบมากกว่าประโยชน์ ซึ่งหากในมุมประโยชน์จากการแข็งค่าเงินบาท จากการนำเข้าพลังงานที่ทำให้ต้นทุนนำเข้าต่ำลง
โดยปัจจุบันไทยนำเข้าน้ำมันต่อปี 1.5 ล้านล้านบาท แต่ประเทศไทยมีรายได้จากต่างชาติเข้ามาอยู่ที่ 1.7 ล้านล้านบาท บวกกับนำเข้าส่งออกที่ 1.9 ล้านล้านบาท รวมแล้วมีรายรับ 3.6 ล้านล้านบาท ดังนั้นไทยสูญเสียรายได้มากกว่าได้รับประโยชน์จากการที่เงินบาทแข็งค่า ซึ่งทำให้เศรษฐกิจไทยเสียเปรียบโดยเปรียบเทียบหากเทียบกับประเทศในภูมิภาค ซึ่งกระทบต่อการขยายตัวต่อจีดีพีของไทยให้ลดลง
ทั้งนี้หากดูทิศทางเงินบาท มีโอกาสที่จะเห็นเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง หรือหลุดระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์ได้ แต่ก่อนจะหลุดระดับดังกล่าว เชื่อว่าจะมีเสียงเรียกร้องจากผู้ส่งออก และผู้ประกอบการท่องเที่ยวให้ภาครัฐเข้าไปดูแลค่าเงินบาทมากขึ้น
รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/G8R17i5r8v0
แท็กที่เกี่ยวข้อง นักเศรษฐศาสตร์ ,เงินบาทแข็งค่า ,การท่องเที่ยว