เศรษฐกิจ

ธปท. ชี้แรงส่งเศรษฐกิจไทยรายไตรมาส ชะลอตัว ครึ่งหลังของปี โตไม่ถึง 1%

โดย nutda_t

26 มิ.ย. 2567

89 views

นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน กล่าวว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจรายไตรมาสปีนี้ หากเทียบปีต่อปี ดูเหมือนว่าจะปรับตัวดีขึ้นเป็นขั้นบันไดที่เร่งขึ้นในช่วงหลังของปี คือ จากไตรมาส 1 ที่โต 1.6% คาดการณ์ไตรมาส 2 โต 2% , ไตรมาส 3 โต 3% , ไตรมาส 4 โต 4% และคาดการณ์ทั้งปี 67 โต 2.6% ส่วนปีหน้าโต 3%  แต่นั่นเป็นเพราะฐานที่ต่ำจากปีก่อน เพราะหากดูแรงส่งทางเศรษฐกิจจากไตรมาสต่อไตรมาส ยอมรับว่าชะลอลง จะเห็นไตรมาส 2 โตแค่ 1%  , ไตรมาส 3 โต 0.6% และไตรมาส 4 โต 0.7% เท่านั้น ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงค่าเฉลี่ยศักยภาพเศรษฐกิจไทยในช่วง 20 ปี ส่วนผลจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ยังคงประเมินที่ 0.3-0.4% เพราะผลส่วนใหญ่ไปออกปีหน้า

นางปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ระบุเศรษฐกิจไทยโดยรวมมีแนวโน้มขยายตัวจากอุปสงค์ในประเทศและภาคการท่องเที่ยว โดยเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวในภาคการผลิตและการส่งออกบางหมวด การผลิตอุตสาหกรรมมีสัญญาณ bottom out คือ ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และกำลังจะกลับตัว แต่การฟื้นตัวแต่ละกลุ่มไม่เท่ากัน จากปัจจัยเชิงวัฎจักรและเชิงโครงสร้าง แต่ต้องติดตามพัฒนาการในระยะต่อไป โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มยานยนต์ ที่อุปสงค์ในตลาดอาเซียนเริ่มชะลอลง, solar cells ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการตอบโต้ทางการค้า ซึ่งมีความเสี่ยงเพิ่มเติม , อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และสิ่งทอ ขณะที่การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ปรับดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของแต่ละภาคเศรษฐกิจที่ไม่เท่ากัน ส่งผลต่อการฟื้นตัวของรายได้แรงงานในแต่ละเซกเตอร์แตกต่างกัน แรงงาน 6.3 ล้านคน อยู่ในภาคการผลิตที่กำลังเผชิญปัจจัยเชิงวัฏจักร และปัญหาเชิงโครงสร้าง และมีการรั่วไหลไปสู่ภาคบริการบางส่วน เช่น การค้า การจ้างงานที่ดีอยู่ในภาคที่เกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยว ขณะที่การจ้างงานในบาง sector มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ยากจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง

นอกจากนี้ การฟื้นตัวยังแตกต่างกันในเชิงกลุ่มอาชีพ พื้นที่ และกลุ่มรายได้ โดยความเชื่อมั่นกระจุกอยู่ใน กทม. และปริมณฑล ภาคกลาง และกลุ่มผู้บริโภคที่มีมีรายได้ปานกลางถึงสูง ผู้ประกอบอาชีพอิสระในภาคอีสานฟื้นตัวช้ากว่าภาคอื่น ๆ โดยเฉพาะที่อยู่ในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง สิ่งทอ รับเหมาก่อสร้าง และขนส่งผู้โดยสาร

ด้าน นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน กล่าวว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ โดยอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับกรอบเป้าหมาย กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อปัจจุบันที่ 1-3% ทำหน้าที่ได้ดี แม้ในช่วงที่เงินเฟ้อสูง กรอบเงินเฟ้อช่วยยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ในช่วงเงินเฟ้อสูงปี 2565 และเงินเฟ้อไทยปรับลดลงเร็วเมื่อเทียบกับต่างประเทศ

กลไกสินเชื่อทำงานได้ปกติในภาพรวม สินเชื่อธุรกิจโดยรวมขยายตัว ขณะที่สินเชื่อภาคครัวเรือนขยายตัวชะลอลง ขณะที่กระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ ดำเนินการต่อเนื่อง คุณภาพสินเชื่อด้อยลงบ้างตามที่ประเมินไว้ ทั้งนี้ ต้องติดตามคุณภาพสินเชื่อของครัวเรือนรายได้น้อยและธุรกิจ SMEs บางกลุ่ม โดยพบสินเชื่อภาคธุรกิจขยายตัวใกล้เคียงแนวโน้มในอดีต วงเงินสินเชื่อขนาดใหญ่ ทั้งที่ไม่เกิน500 ล้านบาท และมากกว่า 500 ล้านบาทขึ้นไป เติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่สินเชื่อเอสเอ็มอีทรงตัว ซึ่งคุณภาพสินเชื่อโดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ปรับแย่ลงบ้าง

สินเชื่อภาคครัวเรือนชะลอลง ส่วนหนึ่งสอดคล้องกับกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ โดยสินเชื่อเช่าซื้อหดตัว 1.55% และบัตรเครดิตโตแค่ 0.78% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงกว่าประเภทอื่น โดยคุณภาพสินเชื่อด้อยลงโดยเป็นไปตามที่ประเมินไว้

ด้านการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการเงินในภาพรวมต้องผสมผสานเครื่องมืออย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดอีกทั้งลดการพึ่งพาเครื่องมือใดเครื่องมือหนึ่งมากเกินไปจนสร้างผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ ระดับปัจจุบันสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อรวมทั้งเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพในระยะยาว

แท็กที่เกี่ยวข้อง  เศรษฐกิจชะลอตัว

คุณอาจสนใจ

Related News