เศรษฐกิจ

6 ช่องทาง ยืนยันตัวตนรับเงิน 'ดิจิทัลวอลเล็ต' นายกฯ ยันพร้อมเปิดลงทะเบียน 1 ส.ค.นี้

โดย thichaphat_d

15 ก.ค. 2567

854 views

จากกรณี เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ประกาศหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต โดยระบุว่า

"ดิจิทัลวอลเล็ตพร้อม เปิดลงทะเบียน 1 ส.ค. นี้ ครับ

การประชุมวันนี้ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดลงทะเบียน และการดำเนินการในภาพรวมที่จะรองรับการใช้งานของประชาชนและร้านค้า โดยมีการมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ รวมไปถึงการลงรายละเอียดเงื่อนไขของการรับสิทธิ์ และมาตรการป้องกันการทุจริต การเรียกเงินคืนให้ชัดเจนขึ้นครับ

โครงการ #ดิจิทัลวอลเล็ต คือ โครงการใหญ่ของภาครัฐที่จะเติมเงินกระเป๋าพี่น้องประชาชน ผู้ประกอบการ และระบบเศรษฐกิจในภาพรวม เพื่อความละเอียดรอบคอบทั้งทางกฎหมาย และทางเทคนิค โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยของผู้ใช้งาน ทำให้ใช้เวลาดำเนินการมากหน่อย แต่พี่น้องไม่ต้องคอยเก้อแน่นอนครับ"

------------------------------------

สำหรับช่องทางในการยืนยันตัวตนสำหรับประชาชน เพื่อรับสิทธิเงินดิจิทัล มีด้วยกัน 6 ช่องทาง ได้แก่

1.แอปพลิเคชั่น ทางรัฐ

ทางรัฐ คือ แอปพลิเคชันที่พัฒนาโดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) เป็นศูนย์กลางบริการภาครัฐแบบครบวงจร เปิดใช้ตั้งแต่ปี 2564 รวบรวมบริการต่างๆ เช่น ข้อมูลส่วนบุคคล สาธารณูปโภค การศึกษา สวัสดิการ ที่อยู่อาศัย กฎหมาย เครดิตบูโร ข้อมูลภาครัฐ และยานพาหนะ

2.แอปพลิเคชั่น ThaID กรมการปกครอง

ThaID (ไทยดี) คือ แอปพลิเคชันที่ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการพิสูจน์และยืนยันตัวตน (Digital ID) รวมถึงการเปรียบเทียบภาพใบหน้า (Face Verification System) เปลี่ยนชื่อมาจากแอปพลิเคชั่น D.DOPAซึ่งหากประชาชนเข้าไปใช้บริการจากทางภาครัฐหรือภาคเอกชนที่จำเป็นต้องมีการยืนยันตัวตน ก็สามารถเข้าสู่ระบบแอปพลิเคชัน ThaID เพื่อยืนยันตัวตนได้เลย โดยไม่ต้องกรอกข้อมูลให้เสียเวลา ถือเป็นการสร้างมิติใหม่ของการทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัล ที่มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

3.ตู้บริการอเนกประสงค์ภาครัฐ

ตู้คีออสก์ที่ให้บริการทั้งด้านข้อมูลและการลงทะเบียนต่าง ๆ ซึ่งตู้นี้จะสามารถใช้ในการยืนยันตัวตนกับแอปพลิเคชั่นทางรัฐได้ โดยจะต้องเตรียมบัตรประชาชนและโทรศัพท์มือถือเพื่อดำเนินการยืนยันตัวตน เมื่อได้ยืนยันตัวตนตามขั้นตอนที่แจ้งผ่านตู้แล้ว จะได้รับ QR Code เพื่อสแกนใช้งานแอปพลิเคชั่นทางรัฐ ถือว่าการยืนยันเสร็จเรียบร้อย

4.ตู้บุญเติม

ตู้สีส้มที่เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง โดยให้สังเกตตู้บุญเติมที่มีกล้องเล็ก ๆ ติดอยู่ที่ด้านบนของตู้ จะมีให้บริการยืนยันตัวตน e-KYC ซึ่งปัจจุบันมีให้บริการกว่า 2,000 จุดทั่วประเทศ

5.เคาน์เตอร์ไปรษณีย์ไทย

สามารถยืนยันตัวตนได้ผ่านที่ทำการไปรษณีย์ไทยทุกสาขา โดยเตรียมบัตรประชาชนและโทรศัพท์มือถือ และแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เคาน์เตอร์ได้เลย ว่าต้องการยืนยันตัวตันแอปพลิเคชั่นทางรัฐ หลังจากนั้นจะได้รับ SMS ที่ส่งลิงก์เพื่อให้ดำเนินการต่อทางแอป

6.เคาน์เตอร์เซอร์วิส 7-Eleven

ยืนยันตัวตนผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส 7-11 ที่มีกว่า 13,000 สาขาทั่วประเทศ ก็สามารถยืนยันตัวตนแอปทางรัฐได้ เพียงกดที่เมนู “ยืนยันตัวตนที่ 7-Eleven” ระบบจะให้เราระบุเลขบัตรประชาชน และหมายเลขโทรศัพท์ เพื่อสร้างเป็น QR Code จากนั้นแจ้งกับพนักงานที่สาขาว่าต้องการยืนยันตัวตนแอป “ทางรัฐ” พนักงานก็จะสแกน QR Code ซึ่งระบบจะส่ง SMS เพื่อให้เรายืนยันตัวตนผ่านทางแอป “ทางรัฐ”

------------------------------------------------

สำหรับรายละเอียดของสินค้าที่จะกำหนดให้มีการซื้อสินค้าใดได้หรือไม่นั้น จากข้อมูลล่าสุดวันที่ 10 ก.ค. 2567 ทางกระทรวงพาณิชย์ มีการกำหนดสินค้าเป็น Negative list ดังนี้

– สลากกินแบ่งรัฐบาล

– เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

– ยาสูบ

– กัญชา กระท่อม พืชกระท่อม ผลิตภัณฑ์กัญชาและกระท่อม

– บัตรกำนัล บัตรเงินสด

– ทองคำ เพชร พลอย อัญมณี

– น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซธรรมชาติ

– บริการต่าง ๆ

– เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าอิเล็กทรอนิกส์

– โทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟน


คุณอาจสนใจ

Related News