เศรษฐกิจ

ก.แรงงาน เตรียมแผนพัฒนาแรงงานไทย สาขาบริบาลผู้สูงวัย หลังเป็นที่ต้องการในญี่ปุ่น

โดย panwilai_c

20 ธ.ค. 2567

209 views

ในช่วงที่ ญี่ปุ่นเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ทำให้แรงงานในภาคบริบาล ที่เป็นผู้ดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุ เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งมีการคาดการณ์ไว้ที่กว่า 2.72 ล้านคน ในปี 2568 โดยในตอนนี้ก็มีกลุ่มแรงงานไทยสาขาบริบาลบางส่วนที่ประกอบอาชีพที่นี่มานานหลายปีแล้ว และหลายคนเลือกสอบเลื่อนขั้นใบประกอบวิชาชีพเพื่ออยู่ที่ญี่ปุ่นต่อเนื่องจากมองว่าเป็นความมั่นคงในระยะยาว ขณะที่กระทรวงแรงงานได้เตรียมพัฒนากำลังคนในส่วนนี้ เข้าสู่ตลาดแรงงานให้มากขึ้น



ฉัตรคิรินทร์ และ เบญจวรรณ เป็น 2 คนไทยที่ปฏิบัติหน้าที่ในสาขาอาชีพบริบาล เป็นผู้ช่วยพยาบาล ในโรงพยาบาลชินคาวาบาชิ จังหวัดคานากาวะ ประเทศญี่ปุ่น ผ่านบริษัทผู้ส่งเอกชน ซากุระ เจแปน คอเปอเรทีฟ ที่จดทะเบียนกับกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน



โดย ฉัตรคิรินทร์ มาในสถานภาพผู้ฝึกปฏิบัติงานด้านเทคนิค มาได้กว่า 1 ปีแล้ว ขณะที่เบญจวรรณ ได้สถานภาพเป็นแรงงานทักษะเฉพาะ อยู่ที่นี่มาตั้งแต่ปี 2563 หรือกว่า 4 ปีแล้ว



หน้าที่ส่วนใหญ่ของพวกเขา คือ การฟื้นฟู และ ดูแลผู้ป่วยภายในโรงพยาบาล ร่วมกับแพทย์และพยาบาลวิชาชีพของที่นี่ ซึ่งก็สามารถปรับตัวและปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นอย่างดี



นอกจากนี้ยังมีคนไทย ที่ปฏิบัติหน้าที่สาขาวิชาชีพบริบาลอยู่ที่โรงพยาบาลชินคาวาบาชิ อีก 2 คน และ ศูนดูแลผู้สูงอายุในเมืองคาวาซากิ อีก 1 คน ทั้งในสถานภาพผู้ฝึกทักษะวิชาชีพ และ แรงงานทักษะเฉพาะทาง โดยได้รับรายได้ขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 50,000 บาทต่อเดือน



ซึ่ง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลก็ชื่นชมในความสามารถการทำงานและความรับผิดชอบของคนไทยที่นี่ พร้อมขอสนับสนุนแรงงานด้านบริบาลเพิ่มเติมจากกระทรวงแรงงาน



นอกจากนี้ในส่วนของศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในญี่ปุ่น ก็มีความต้องการผู้ปฏิบัติหน้าที่ ด้านบริบาลเป็นจำนวนมาก เช่นที่ สถานดูแลและฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุมิโดริ ในจังหวัดไซตามะ ก็มีคนไทยอยู่ที่นี่มากถึง 16 คน ซึ่งมีทั้งกลุ่มผู้ฝึกปฏิบัติงานและทักษะเฉพาะ เข้ามาปฏิบัติงานผ่านมูลนิธิรามบริรักษ์



แต่สิ่งสำคัญที่นายจ้างมักเลือกรับคนไทย นั่นก็เพราะงานด้านบริการและดูแลผู้ป่วยผู้สูอายุ จำเป็นต้องมีทักษะด้านอารมณ์สูงและการเอาใจใส่ ซึ่งคนไทยมีคุณสมบัติดังกล่าวครบถ้วน ที่ต้องใช้ในการปฏิบัติงาน



ไอซ์ และ วิน เป็นอีก 2 คนที่มีภูมิลำเนาทางภาคเหนือของไทย ซึ่งจบหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล โดยทั้งคู่ต่อยอดด้วยการเลือกมาทำงานในประเทศญี่ปุ่น แม้จะมีอุปสรรคด้านภาษาในช่วงแรก แต่ก็เรียนรู้และผ่านพ้นมาได้ ซึ่งก็ตั้งใจจะสอบวัดระดับให้สูงขึ้น ส่วนอนาคตก็มองการอยู่ที่นี่ในระยะยาว หรือ กลับไปต่อยอดสาขาอาชีพอื่นที่เกี่ยวข้อง



ปัจจุบันญี่ปุ่นมีนโยบายการจ้างแรงงานต่างชาติในสาขาบริบาล ทั้งหมด 3 สถานภาพการพำนัก คือ ผู้ฝึกปฏิบัติงานด้านเทคนิค / แรงงานทักษะเฉพาะ และวีซ่าทำงานระยะยาว ซึ่งต้องผ่านการทดสอบภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ N4 ขึ้นไป รวมทั้งหลักสูตรการบริบาลพื้นฐาน



โดยมีคนไทยในสาขาอาชีพนี้รวมแล้ว 525 คน ขณะที่ความต้องการแรงงานสาขาบริบาลในญี่ปุ่นอยู่ที่ 135,00 คน ซึ่งตอนนี้มีแรงงานต่างชาติด้านนี้ในระบบ 47,734 คน



เบื้องต้น กระทรวงแรงงาน ได้นำความต้องการนี้ของทางญี่ปุ่นเข้าสู่การหารือแล้ว โดยเจรจาร่วมกับองค์กรที่เกี่ยวข้องในการเตรียมความพร้อมจัดอบรมทักษะวิชาชีพด้านบริบาลเพื่อจัดส่งแรงงานไทนให้เพิ่มขึ้น



ญี่ปุ่นกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ซึ่งคาดการณ์ไว้ว่าในปี 2583 หรือ อีก 15 ปีข้างหน้า ญี่ปุ่นจะขาดแคลนแรงงานในสาขาบริบาลมักถึง 570,000 คนสำหรับการดูแลกลุ่มผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไปในกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ และ เจน บี โดยจำเป็นต้องมีแรงงานในส่วนนี้เข้ามาเพิ่มเติม ภายในปีหน้าจำนวน 2.4 ล้านคน และ 2.72 ล้านคน ในปี 2568 แต่จากข้อมูลล่าสุดพบว่ามีการจ้างงาน สาขาบริบาลเพียง 2.15 ล้านคนเท่านั้น จึงหมายความว่าญี่ปุ่นจะต้องเพิ่มจำนวนแรงงานในกลุ่มนี้ให้ได้เฉลี่ยปีละ 32,000 คนเพื่อรองรับกับความต้องการแรงงานใน อีก 15 ปี ข้างหน้านี้จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับแรงงานไทย ที่จะเข้ามาทำงานด้านงานบริบาล

คุณอาจสนใจ

Related News