อาชญากรรม

'สอบสวนกลาง' ร่วม 'อย.' ทลายเครือข่ายผลิตยาแก้ไอปลอมเคลื่อนที่ ขายวัยรุ่นผสมยาเสพติด4x100

โดย paweena_c

5 เม.ย. 2567

341 views

ตำรวจสอบสวนกลาง(CIB) ร่วม อย. ทลายเครือข่ายผลิตยาแก้ไอปลอมเคลื่อนที่รายใหญ่ มูลค่ากว่า 5 ล้านบาท ขายวัยรุ่นผสมยาเสพติด4x100 

วันที่ 4 เมษายน 2567 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ (ศรป.) ร่วมปฏิบัติการจับกุมกวาดล้างเครือข่ายผู้ผลิตและขายยาแก้ไอปลอมรายใหญ่ในพื้นที่ จ.ปทุมธานี-นนทบุรี ตรวจยึดของกลาง มูลค่าความเสียหายกว่า 5,000,000 บาท


สืบเนื่องจากกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคได้ระดมกวาดล้างร้านขายยาเถื่อน และร้านขายยาที่ใช้บุคคลที่ไม่ใช่เภสัชกรขายยาแก้ไอ แก้แพ้ ให้กลุ่มวัยรุ่นเพื่อเป็นส่วนผสมยาเสพติดชนิด 4x100 จำนวนกว่า 40 จุด ทั่วกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยจากการตรวจค้น พบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาแก้ไอปลอม จึงทำการเฝ้าระวังการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยากลุ่มดังกล่าวเรื่อยมา

ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการสืบสวนหาข่าวพบว่า มีการลักลอบผลิตยาแก้ไอปลอม และทราบถึงกลุ่มเครือข่ายผู้ผลิตยาแก้ไอปลอมว่ามีการจัดเก็บส่วนผสม ฉลาก บรรจุภัณฑ์ รวมถึงผลิต อยู่ในพื้นที่ จ.ปทุมธานี และ จ.นนทบุรี

ต่อมาเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา นำหมายค้นเข้าตรวจค้นสถานที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการขายยาแก้ไอปลอม จำนวน 4 จุด ดังนี้

1. บริษัทผู้ผลิตในพื้นที่ ต.บ่อเงิน อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี ตรวจยึดฝาและขวดบรรจุภัณฑ์สีชา จำนวน 2 ขวด, ไซรัปกลิ่นราสเบอรี่ จำนวน 18 ขวด, ใบเสร็จรับเงิน, ใบส่งสินค้า จำนวน 103 แผ่น, ขวดสีชา จำนวน 1,200 ขวด อายัด 100,000 ขวด

2. สถานที่จัดเก็บบรรจุภัณฑ์ และวัตถุดิบในการผลิตยาน้ำเชื่อมแก้ไอ ในพื้นที่ ต.ลาดหลุมแก้ว     จ.ปทุมธานี ตรวจยึด ขวดพลาสติกสีชา จำนวน 13,160 ขวด, ไซรัปกลิ่นแอปริคอต ขนาด 5 ลิตร จำนวน 11 แกลลอน, ไซรัปกลิ่นราสเบอรี่ ขนาด 5 ลิตร จำนวน 9 แกลลอน, โซเดียมไซคลาเมท (สารให้ความหวาน) ขนาด 25 กก. จำนวน 4 กระสอบ, กรดซิตริกโมโนไฮเดรท ขนาด 25 กก. จำนวน 1 กระสอบ

3. สถานที่ผลิตยาแก้ไอปลอมในพื้นที่ ต.หน้าไม้ อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี ตรวจยึดวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตยาแก้ไอปลอม ได้แก่ โซเดียมไซคลาเมท (สารให้ความหวาน) ขนาด 25 กก. จำนวน 1 กระสอบ, กรดซิตริกโมโนไฮเดรท จำนวน 20 กก. รวมทั้งถังสำหรับบรรจุยาน้ำแก้ไอที่ผลิตแล้วขนาด 200 ลิตร จำนวน 8 ถัง

4. สถานที่แบ่ง บรรจุยาแก้ไอปลอม ในพื้นที่ ต. บ้านใหม่ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ตรวจยึดและอายัดเครื่องบรรจุยาน้ำ จำนวน 5 เครื่อง, เครื่องตอกฝา จำนวน 5 เครื่อง, เครื่องติดฉลาก จำนวน 5 เครื่อง, ถังสำหรับบรรจุยาน้ำแก้ไอที่ผลิตแล้วขนาด 200 ลิตร จำนวน 3 ถัง, ถังสแตนเลส ขนาด 1,250 ลิตร สำหรับบรรจุยาน้ำแก้ไอที่ผลิตแล้ว จำนวน 3 ถัง, ยาแก้ไอ ยี่ห้อ Datissin ปลอม จำนวน 6,000 ขวด รวมทั้งฉลากยา และบรรจุภัณฑ์ที้ในการผลิตจำนวนหนึ่ง


จากการสืบสวนพบว่า กลุ่มเครือข่ายผู้กระทำความผิด นำส่วนผสม วัตถุดิบ และบรรจุภัณฑ์จากสถานที่ต่างๆ ในพื้นที่ จ.ปทุมธานี มาแบ่ง บรรจุ ในโกดังในพื้นที่ ต. บ้านใหม่ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี โดยจะเปลี่ยนสถานที่ในการผลิตไปเรื่อยๆ เพื่อให้ยากแก่การตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510

1. ฐาน “ผลิตยาโดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน10,000 บาท  

2. ฐาน “ผลิต และขายยาปลอม” ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึงตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 10,000 ถึง 50,000 บาท

ภญ.อรัญญา เทพพิทักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ (ศรป.) กล่าวว่าปฏิบัติการครั้งนี้ อย. ต้องขอขอบพระคุณตำรวจสอบสวนกลาง บก.ปคบ. ที่ช่วยสืบสวนจนสามารถจับกุมเครือข่ายลักลอบผลิตยาน้ำแก้ไอปลอมได้ในวันนี้ ซึ่งที่ผ่านมา อย. ได้มีมาตรการในการตรวจสอบ เฝ้าระวัง การผลิตและขายกลุ่มยาน้ำแก้ไอซึ่งเป็นยาอันตรายกลุ่มเสี่ยงที่มีการนำไปใช้ในกลุ่มวัยรุ่น โดยมีการตรวจสอบและจับกุมทั้งผู้ผลิตและณผู้ขายยากลุ่มดังกล่าวที่ผิดกฎหมายมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากพบการกระทำผิดในร้านขายยา นอกจากดำเนินคดีอาญาแล้ว ยังมีการพักใช้ใบอนุญาตอีกด้วย  

สำหรับการจับกุม ณ สถานที่ผลิตยาแก้ไอปลอมในวันนี้ จะเห็นได้ว่ายาปลอมเหล่านี้เกิดจากกระบวนการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีความปลอดภัย จึงขอเตือนพี่น้องประชาชนในการเลือกซื้อยา อย่าเสี่ยงสั่งซื้อยาจากสื่อออนไลน์หรือซื้อจากร้านทั่วไปที่ไม่ได้รับอนุญาตขายยา  ซึ่งนอกจากจะได้รับยาที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน ไม่สามารถใช้รักษาโรคได้แล้ว  ยังไม่ปลอดภัย หรือเกิดอันตรายจากการบริโภคยาดังกล่าวได้  

ขอให้เลือกซื้อยาจากร้านขายยาที่มีเภสัชกรอยู่ปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งจะมีกระบวนการคัดเลือกยาที่มีคุณภาพ มาตรฐาน นำมาขายในร้านยา รวมถึงเภสัชกรจะเป็นผู้ที่ให้คำแนะนำในการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลให้กับผู้ป่วย  

ทั้งนี้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้รับอนุญาตจาก อย. ได้ที่ www.fda.moph.go.th และ Line: @FDAThai และหากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยหรือไม่ได้รับอนุญาต สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือผ่าน Email: 1556@fda.moph.go.th Line: @FDAThai, Facebook: FDAThai หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

พล.ต.ต.วิทยา  ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. กล่าวว่า ยาเป็นปัจจัย 4 ที่ประชาชนจะใช้รักษาเยียวยาเมื่อป่วยไข้อันดับแรก และส่งผลโดยตรงกับสุขภาพของประชาชน หากรับประทานยาปลอมที่ผลิตโดยไม่ได้มาตรฐานอาจทำให้การรักษาไม่ได้ผล ไม่หาย และอาจได้รับอันตรายถึงชีวิต ผู้ผลิตและขายยาจะต้อง

ขออนุญาตให้ถูกต้อง เพื่อเป็นหลักประกันเบื้องต้นว่ายาที่ผลิตมาสู่ท้องตลาดมีมาตรฐาน และรักษาโรคได้จริง บก.ปคบ.จะดำเนินกวดขันจับกุมผู้ผลิตและขายยาปลอม รวมถึงกวาดล้างผู้ที่ผลิตและขายยาโดยไม่ได้

รับอนุญาตให้ถึงที่สุด โดยประชาชนทั่วไปหากพบเห็นการกระทำความผิด สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน ปคบ. 1135 หรือเพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค



คุณอาจสนใจ

Related News