ข่าวประชาสัมพันธ์ช่อง 3
ผลวิจัยชี้ ‘PM2.5-โลกร้อน-โรคร่วม’ ทำผู้ป่วยโรคหืดอาการหอบกลับมารุนแรง แนะเช็คคุณภาพอากาศก่อนออกจากบ้าน
โดย nicharee_m
25 มี.ค. 2566
35 views
ผลวิจัยชี้ ‘PM2.5-โลกร้อน-โรคร่วม’ ทำผู้ป่วยโรคหืดอาการหอบกลับมารุนแรง ยอดหามส่งรพ.พุ่ง แนะนอกจากใช้ยาอย่างถูกวิธีแล้ว ต้องเช็คคุณภาพอากาศก่อนออกจากบ้าน เลี่ยงปัจจัยกระตุ้นร่วมด้วย
กรุงเทพฯ - วานนี้ (24 มี.ค. 66) งานแถลงข่าวสถานการณ์โรคหืด ในงานประชุมวิชาการประจำปี 2566 สมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ โดยมี นพ.สุรชัย โชคครรชิตไชย ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) สาขาโรคไม่ติดต่อ เป็นประธานในพิธี
โดย ศ.ดร.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล นายกสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย ให้การต้อนรับและกล่าวถึงข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ล่าสุดในปี 2020 ประเทศไทยพบผู้ป่วยเสียชีวิตจากอาการของโรคหืด 4,182 รายต่อปี คิดเป็นวันละ 11-12 รายหรืออัตรา 3.93 ต่อประชากร 1 แสนคน สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการไม่ได้พ่นยาควบคุมการรักษาอย่างต่อเนื่อง และเวลามีอาการกำเริบก็จะพ่นยาไม่ทันหรือไม่ถูกวิธี ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกร้อน ส่งผลให้ละอองเกสรและเชื้อราเพิ่มขึ้น และยังส่งผลให้เด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี มีอาการหอบเร็วขึ้นและนอนโรงพยาบาลพุ่งขึ้นถึง 15% และพบทุกๆค่า PM 2.5 ที่เพิ่มขึ้น 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรจะเพิ่มการหอบกำเริบ 0.2 ครั้ง ดังนั้นในผู้ป่วยโรคหืด นอกจากพ่นยาสม่ำเสมอแล้ว การตรวจวัดดัชนีคุณภาพอากาศทุกวัน ในผู้ป่วยโรคหืดก่อนออกจากบ้านถือเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง ทำให้ในปีนี้สมาคมฯร่วมมือ กับกลุ่มทีมผู้ดูแลโรคระบบทางเดินหายใจในบริการปฐมภูมิ ภายใต้ราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย เพื่อพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ตามแนวทางการรักษาโรคหืดสำหรับผู้ใหญ่ในประเทศไทย ผนึกกำลังในการรับมือกับสถานการณ์โรคหืดที่รุนแรงขึ้นในประเทศไทย
“สมาคมสภาองค์กรโรคหืดฯ ถือเป็นผู้นำในระดับแนวหน้าของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในด้านการสนับสนุนและพัฒนางานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยโรคหืด และพัฒนาแนวทางการวินิจฉัยและรักษาโรคหืดสำหรับผู้ใหญ่ในประเทศไทย (Guideline) ต่อเนื่องทุกปี ถือเป็น Guideline ที่มีเนื้อหาสั้น กระชับ ทำให้แพทย์ทั่วไปก็สามารถนำไปเป็นแนวทางเวชปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วยได้จริง ซึ่งสามารถนำแนวทางการรักษาดังกล่าวไปใช้ในการพิจารณาดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหืดในผู้ใหญ่ได้ง่ายและทันกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศและมลภาวะในปัจจุบัน และยังได้รับการยอมรับจากวารสารทางการแพทย์ระดับนานาชาติในปีที่ผ่านมา” ศ.ดร.อรพรรณ กล่าว
ขณะที่ อ.นพ.ธิติวัฒน์ ศรีประสาธน์ ประธานวิจัยฯ สมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการมีส่วนร่วมในงานวิจัยนานาชาติล่าสุด ด้วยความร่วมมือระหว่าง 7 สถาบันทางการแพทย์ เตรียมนำเสนอผลงานวิจัยที่งานประชุมนานาชาติ American Thoracic Society ณ เมือง Washington DC ประเทศสหรัฐอเมริกา ในเดือนพฤษภาคม 66 นี้ พบกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยโรคหืดจำนวน 600 ราย มีกว่า 458 รายหรือคิดเป็นร้อยละ 80 มีอาการของโรคภูมิแพ้จมูกอักเสบในผู้ป่วยโรคหืด และพบด้วยว่า ผู้ป่วยส่วนหนึ่งไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรคภูมิแพ้จมูกอักเสบ และโรคดังกล่าวถือเป็นสาเหตุที่สำคัญต่อการไม่สามารถควบคุมโรคหืดได้ และยังมีภาวะโรคร่วมอื่นๆที่สามารถพบได้บ่อย เช่น โรคภาวะกรดไหลย้อน ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ และภาวะซึมเศร้า ร่วมด้วย
ด้าน อ.นพ.ธเนศ แก่นสาร ตัวแทนกลุ่มทีมผู้ดูแลโรคระบบทางเดินหายใจในบริการปฐมภูมิ ภายใต้ราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย เผยข้อมูลรายงานผลการจัดตั้งเครือข่ายคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังกว่า 14 ปี ช่วยลดจำนวนผู้ป่วยต้องมา admit ที่ รพ. ลดลงกว่า 17,585 ครั้ง หรือร้อยละ 25.9 แต่ยังมีปัญหาผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาเพียงร้อยละ 30 เท่านั้น ชี้เป็นความท้าทายใหม่ที่ต้องช่วยทำให้อีกร้อยละ 70 เข้าถึงการรักษาให้ได้ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายควบคุมโรคหืดได้และมีอัตราเข้ารักษาในรพ. เข้าใกล้ศูนย์ กลุ่มทีมผู้ดูแลโรคระบบทางเดินหายใจในบริการปฐมภูมิ ได้กำหนดทิศทางของทีม เพื่อกระจายให้องค์ความรู้แก่แพทย์ทั่วไปและทีมสหสาขาวิชาชีพ ให้สามารถให้บริการการรักษาให้ได้มาตรฐานและจัดอบรมให้ความรู้ในรูปแบบออนไลน์ หวังจะเป็นภาคีเครือข่ายเพื่อรับมือกับสถานการณ์โรคหืดที่รุนแรงขึ้นในประเทศไทย ท่ามกลางภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและ มลภาวะในปัจจุบัน