เทคโนโลยี

เปิดโมเดลเศรษฐกิจ-นวัตกรรมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เตรียมนำเข้าที่ประชุมเอเปก

โดย chiwatthanai_t

10 ต.ค. 2565

116 views

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. เปิดงานประชุมและนิทรรศการ APEC BCG economy hailand 2022 นำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรม กว่า 200 ผลงาน จากภาครัฐและเอกชน โดยมีกลุ่มชาติสมาชิกเอเปคเข้าร่วม ซึ่งไทยเองเตรียมเสนอโมเดลระบบเศรษฐกิจ BCG เข้าสู่ที่ประชุม APEC ในเดือนหน้านี้ เพื่อหาแนวทางการสร้างเขตเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนร่วมกัน ติดตามรายละเอียดกับคุณธีรุตม์ นิมโรธรรม


อุปกรณ์จากแผงพลังงานแสงอาทิตย์พวกนี้ ถูกคัดแยกออกมาจากแผงโซลาร์เซล์ ชนิดที่ว่าจำแนกเป็นชิ้นส่วนต่างๆ ละเอียดเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ด้วยเทคโนโลยี Solar Panel Recycle เครื่องแรกของไทย พัฒนาขึ้นโดยนักวิจัยจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เพื่อรองรับจำนวนแผงโซลาร์เซลล์จากภาคครัวเรือนและอุตสาหกรรม ที่กำลังทยอยหมดอายุการใช้งาน ซึ่งคาดว่าจะมีมากถึง 10,000 ตัน ในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ และคาดว่าจะเพิ่มจำนวนเป็นกว่า 78 ล้านตันในปี 2050 เฉพาะในไทยอาจมีมากถึง 4 แสนตัน


วิธีนี้จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถนำอุปกรณ์ที่คัดแยกเสร็จสิ้นมาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเพื่อใช้ประโยชน์ได้ใหม่ถึงกว่า 80% ของชิ้นส่วนทั้งหมด


ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ระบุว่า นี่เป็น 1 ในเทรนด์เทคโนโลยีที่น่าจับตาในช่วง 5-10 ปีต่อจากนี้ จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมกว่า 200 ชิ้น ภายในงาน APEC BCG Economy Thailand 2022 ซึ่งหลายภาคส่วนเริ่มหันมาให้ความสนใจในธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ผ่านโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และ เศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG โดยงานวิจัยและนวัตกรรมที่นำเสนอในครั้งนี้ คือ ผลงานที่พร้อมต่อยอดและปรับให้เหมาะสมกับภาคธุรกิจได้ในทันที ซึ่งยังมีผลงานเทคโนโลยีที่น่าสนใจในอีกหลายด้าน ทั้งด้านเทคโนโลยีเชื่อมต่อสมองมนุษย์ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ แพทย์ทางไกล และอื่นๆ


โมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็น 1 ในจุดมุ่งหมายหลักร่วมกันของกลุ่มชาติ APEC ที่ไทยเตรียมยกประเด็นนี้ขึ้นมาหารือในการประชุมที่จะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึง โดยไทยได้วางแผนปฏิบัติการของ BCG ไว้ในระยะยาว ระหว่างปี 2021 ถึงปี 2027 มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และ มีกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมหรืออว. เป็นผู้ขับเคลื่อน เช่น การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ในพื้นที่ EECi ซึ่งตอนนี้เริ่มดำเนินการแล้วในส่วนความร่วมมือในห้องปฏิบัติการจนได้งานวิจัยที่เห็นผลจริง


เบื้องต้นงานนี้ได้รับการตอบรับจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจากชาติสมาชิก APEC หลายชาติ ที่เข้าร่วมบรรยายและเสวนา พร้อมนำเสนอผลงานวิจัย ซึ่งงานนี้คือการนำร่องสู่การประชุม APEC 2022 ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายนนี้

คุณอาจสนใจ

Related News