สังคม
เจาะลึกรายละเอียด ที่มาเงินกองทุนปฏิรูปอุตสาหกรรมเพื่อความยั่งยืน
โดย panisa_p
18 พ.ย. 2567
167 views
ร่างพระราชบัญญัติกากอุตสาหกรรม และขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกำลังผลักดัน ถูกคาดหวังว่าจะเป็นเครื่องมือให้เจ้าหน้าที่กำกับดูแล และเอาผิดกิจการที่ลักลอบทิ้งกากขยะอุตสาหกรรม และอีกด้านหนึ่ง ก็จะตั้งกองทุน ในชื่อกองทุนปฏิรูปอุตสาหกรรมเพื่อความยั่งยืน เพื่อนำเงินไป ใช้แก้ปัญหาที่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบในตอนนี้ โดยเงินส่วนหนึ่งที่จะเข้ากองทุน จะมาจากค่าปรับโรงงานที่ทำผิดระเบียบ โดยยกเลิกสินบนรางวัลนำจับแก่เจ้าหน้าทีรัฐ เพื่อนำเงินเหล่านี้เข้ากองทุนนี้ อย่างไรก็ตาม ข่าว 3 มิติ ตั้งข้อสังเกตว่า กว่าที่กองทุนฯ ตาม พ.ร.บ.นี้ฯ จะเกิดขึ้นได้ อาจต้องใช้เวลาหลายเดือนหรือหลายปี แต่จะเป็นไปได้หรือไม่ที่รัฐมนตรี จะปรับเปลี่ยน วัตถุประสงค์การใช้เงินค่าปรับ ที่เคยจ่ายเป็นสินบนรางวัล มาใช้เพื่อเยียวยาแก้ไขให้ชาวบ้าน โดยไม่ต้องรอกองทุนฯ หรือรอ งบกลางเพียงอย่างเดียว
ความเดือดร้อนของนายเทียบ สมานมิตร ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากกากสารเคมี และความกังวลใจของชาวบ้านหนองพะวา อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ต่อกากสารเคมีในโรงงาน วินโพรเสส เป็นตัวอย่างที่เห็นชัดเจนว่าชาวบ้านได้รับผลทบมานาน
ยิ่งกว่านั้น แม้ชาวบ้านชนะคดีทางแพ่งให้ได้รับเงินชดเชยกว่า 20 ล้าน และศาลตัดสินคดีแพ่งให้วินโพรเสส รับผิดชอบ ชดใช้ ฟื้นฟู กว่า 1700 ล้านบาท แต่ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและชาวบ้านต่างก็รู้ดีว่ายังไม่มีวี่แววที่บริษัทจะชดใช้ และภาครัฐก็ไม่มีเงินมากพอที่จะชดใช้ เพราะปัญหาหลักคือ ไม่มีเงิน
การระดมเงินเข้ากองทุนภายใต้ชื่อ"กองทุนปฎิรูปอุตสาหกรรมเพื่อความยั่งยืน" ที่จะผลักดันพร้อมกับ ร่าง พรบ.กากอุตสาหกรรมและขยะอิเล็กทรอนิสก์กำลังเป็นความหวังหลัก และอาจเป็นความหวังเดียวในตอนนี้ หากกระทรวงอุตสาหกรรม ต้องการเงินมาแก้ปัญหากากสารเคมีที่รวดเร็วกว่ารองบประมาณจากภาษี เพราะเห็นชัดว่ายิ่งรอนาน ผลกระทบจากกากสารเคมีโดยเฉพาะที่กระทบน้ำบาดาล ยิ่งบานปลาย
ข้อมูลจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พบว่าเงินที่จะเข้ากองทุน จะมาจากหลายส่วน เช่นค่าธรรมเนียมตั้งกิจการ และค่าหลักประกัน จากกิจการรีไซเคิลและกากอุตสาหกรรม รวมถึงเงินค่าปรับจากโรงงานที่ทำผิด พรบ.โรงงานฯ
ข่าว 3 มิติ เจาะลึกลงไปที่เงินค่าปรับ ซึ่งเป็นเงินที่หมุนเวียนแล้ว และเป็นเป้าหมายแรกๆที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม เคยยืนยันว่าจะเป็นเงินขับเคลื่อนกองทุน เพราะแต่ละปี มีเงินค่าเปรียบเทียบปรับปีละกว่า 100 ล้านบาท มากพอที่จะเยียวยาและแก้ปัญหากากสารเคมีให้ชุมชนได้
เงินที่ได้จากการเปรียบเทียบปรับร้อยละ 40 จะถูกนำส่งกระทรวงการคลัง ส่วนอีกร้อยละ 60 จะถูกจัดสรรตามระเบียบ ข่าว 3 มิติพบว่า กระทรวงอุตสาหกรรม มีระเบียบครั้งแรกปี 2549 เรื่องการจ่ายเงินสินบนและการใช้จ่ายเพื่อดำเนินงาน ระเบียบผ่านการปรับปรุงเรื่อยมา โดยครั้งล่าสุด คือ 2560
ตามระเบียบนี้ แบ่งเงินร้อยละ 60 ที่เหลือจากการส่งคลังไปแล้ว ออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ โดยส่วนแรก ร้อยละ 15 แบ่งเข้ากองกลางเป็นค่าใช้จ่ายในการปฎิบัติงาน ที่เหลืออีกร้อยละ 45 ถูกแบ่งเป็น 9 ส่วน ใน 3 กลุ่มงาน โดยกลุ่มที่ 1 คือกลุ่มผู้ตรวจสอบได้ 5 ส่วนจาก 9 ส่วน มีรายละเอียดการแบ่งตารางนี้ คือมีทั้งแบบที่มีผู้แจ้งนำจับ และแบบที่เจ้าหน้าที่ตรวจพบและจับเอง
กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มผู้ทำสำนวน หรือกลุ่มนิติกร ได้ 2 ส่วนจาก 9 ส่วน ตั้งแต่นิติกรผู้รับผิดชอบสำนวน หัวหน้านิติกร และผอ.กองกฎหมาย
กลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มคณะกรรมการเปรียบเทียบคดี ได้ 2 ส่วนที่เหลือ จาก 9 ส่วน คือประธานกรรมการ กรรมการ กรรมการและเลขา และผู้ช่วยเลขานุการ
ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือ สมมติมีโรงงานถูกปรับ 100 บาท 40 บาทแรกจะถูกกส่งเข้ากระทรวงการคลัง เหลือ 60 บาท ที่ไม่นำส่งคลัง จะแยกเป็น 2 ส่วนใหญ่ คือส่วนแรก 15 บาท เป็นเงินส่วนกลางใช้ ซื้อวัสดุอุปกรณ์การทำงาน
ที่เหลือ 45 บาท จะเป็นเงินสินบนรางวัล แยกอีกเป็นหน่วยงานในภูมิภาคจะได้ 25 บาท นิติกรส่วนกลางที่รวบรวมเอกสาร ทำสำนวนได้สัดส่วน 10 บาท และคณะกรรมการเปรียบเทียบปรับ จะได้สัดส่วน 10 บาท อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นตัวเลขสมมติ เพราะในความเป็นจริงการปรับแต่ละครั้งยอดปรับหลักแสน หรือหลักล้านต่อคดี หากคิดรวมเป็นปี จะมียอดปรับกว่า 100 ล้านบาท
ข่าว 3 มิติ ได้รับข้อสังเกตุก่อนหน้านี้ ว่ามีบางกรณีที่โรงงานกระทำผิดรุนแรง จงใจลดต้นทุนด้วยการนำสารเคมีไปทิ้ง แต่รับโทษเพียงเปรียบเทียบปรับแล้วคดีสิ้นสุดนั้น จะทำให้ผู้กระทำผิดเข็ดหลาบไม่ เพราะบางกรณีโทษปรับน้อยกว่ากำไรที่ได้มา
รวมถึงข้อสังเกตุว่าคณะกรรมการเปรียบเทียบคดี มีส่วนได้รับสินบนรางวัล แม้เป็นไปตามระเบียบของกระทรวงฯ แต่จะถือว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ เพราะมีข้อสังเกตุเพิ่มว่าการตัดกำหนดจำนวนเงินค่าปรับ ย่อมมีผลต่อจำนวนเงินสินบนที่จะนำมาจัดสรรด้วย
ประเด็นเหล่านี้ นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ประธานคณะกรรมการร่างฯ พ.ร.บ.กากอุตสาหกรรมฯ ยืนยันกับข่าว 3 มิติว่า ได้เจรจากับข้าราชการแล้วว่า จะนำเงินส่วนนี้ เข้ากองทุน โดยยกเลิกสินบนรางวัล หรือสินบนเป็นศูนย์ เพื่อนำเงินเข้ากองทุนมาแก้ปัญหาแทน
ข่าว 3 มิติ เชื่อว่าเจ้าหน้าที่รัฐ รู้ดีว่างบประมาณจากภาษี ไม่มากพอที่จะแก้ปัญหาสารเคมีที่ถูกลักลอบทิ้งอย่างเบ็ดเสร็จได้ ขณะเดียวกันก็ รู้ว่าหากจัดสรรเงินค่าปรับสัดส่วนที่เป็นสินบนรางวัลมาใช้เข้ากองทุนก็จะช่วยแก้ปัญหาได้ เพราะความผิดที่นำมาสู่การเปรียบเทียบปรับเกิดขึ้นเป็นระยะ
เช่นล่าสุด เมื่อต้นเดือนนี้ มีรายงานบริษัทแห่งหนึ่งถูกปรับ 6 แสนบาท เมื่อจัดสรรตามระเบียบปี 2560 พบว่า นำเข้าคลัง ร้อยละ 40 เป็นเงิน 2 แสน 4 หมื่นบาท นำเข้าส่วนกลางเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายทำงาน ร้อยละ 15 เป็นเงิน 9 หมื่นบาท
ที่เหลือ 2 แสน 7 หมื่นบาท ถูกจัดสรรเป็นสินบนรางวัล ให้กลุ่มผู้ตรวจสอบในภูมิภาค ตามกำหนดในระเบียบ รวมทั้งหมดในกลุ่มนี้ 150,000 บาท กลุ่มที่ทำสำนวน ที่ส่วนกลาง ได้รับสินบนรางวัลรวม 6 หมื่นบาท กลุ่มคณะกรรมการเปรียบเทียบปรับ ได้สินบนรางวัลรวม 6 หมื่นบาท
ตัวเลขนี้มาจากคดีที่เกิดขึ้นจริง และไม่ใช่ค่าปรับต่อปี แต่เป็นค่าปรับต่อคดี โดยใน 1 ปี มีคดีปรับเกิดขึ้นหลายร้อยคดี นี่จึงเป็นที่คาดหมายว่าจะเป็นเงินเข้ากองทุน ปฎิรูปอุตสาหรรม ตามร่าง พรบ.นี้ โดยนายอรรถวิชช์คาดว่า ร่างแรกจะแล้วเสร็จเดือนหน้า ตั้งเป้าจะเข้าวาระ1 ของการประชุมสภาฯในสมัยหน้า
ข่าว 3 มิติ ตั้งข้อสังเกตว่ากองทุนนี้ ถูกผลักดันไปคู่กับร่าง พ.ร.บ.กากอุตสาหกรรมฯ แต่ไม่อาจยืนยันได้ว่าร่างฯพ.ร.บ. นี้ต้องใช้เวลานานเพียงใด จึงจะประกาศใช้ และหาก พ.ร.บ.นี้ไปไม่ฝั่ง กองทุนนี้จะเกิดได้หรือไม่
อย่างไรก็ตาม ข่าว 3 มิติ พบว่า แม้กองทุนฯ ยังไม่ขึ้น แต่ระเบียบกระทรวงอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินค่าปรับนั้น เป็นอำนาจระดับรัฐมนตรี หรือระดับกระทรวงหรือไม่ ที่จะแก้ไขวัตถุประสงค์การใช้เงินส่วนนี้ โดยไม่ต้องรอกองทุนฯ หากอยู่ในอำนาจที่ทำได้ เป็นไปได้หรือไม่ ที่จะนำสัดส่วนร้อยละ 60 ทั้งหมด ที่เหลือจากการนำส่งคลัง ไปเป็นเข้าส่วนที่เป็นเงินค่าดำเนินงาน พร้อมเดินหน้าแก้ไขวัตถุประสงค์ของเงินค่าดำเนินงานนั้น ให้สามารถแก้ไข เยียวยาปัญหากากอุตสาหกรรมให้ประชาชนได้ โดยวิธีนี้อาจเป็นไปได้ว่าจะแก้ปัญหาที่หมักหมมนี้ได้ โดยไม่รองบประมาณรัฐ หรือรอกองทุนเพียงอย่างเดียว
แท็กที่เกี่ยวข้อง ปฏิรูปอุตสาหกรรม ,แก้ปัญหากากเคมี ,ระดมเงินทุน