สังคม

เปิดเบื้องหลังจับ 'อัยการเมืองคอน' เรียกสินบน พบอ้างต้องนำเงินแบ่งอัยการ 5 คน และตำรวจ

โดย panwilai_c

2 ส.ค. 2567

4.9K views

คดีที่พนักงานอัยการ สังกัดสำนักงานอัยการจังหวัดนครศรีธรรมราช ถูกเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ปปท. และตำรวจ ป.ป.ป.จับเมื่อ 2 วันก่อน แม้ว่าผู้ต้องหาได้รับอนุญาตประกันตัว และให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาโดยรองผู้บัญชาการสอบสวนกลาง ระบุว่าผู้ต้องหาอ้างว่าเงิน 2 แสนนั้น ไม่ใช่สินบน แต่เป็นเงินใช้หนี้สิน



แต่กรณีข่าว 3 มิติ ได้รับข้อมูลอีกอย่าง ที่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นการเรียกสินบนเพิ่ม จาก 2 แสน เป็น 2 แสนห้า และแม้แต่ระหว่างผู้เสียหายเขียนคำร้องที่ ป.ป.ช. ก็ยังถูกโทรศัพท์ตามมา เร่งเร้าให้จ่าย เงินอ้างว่าต้องนำไปแบ่งจ่ายให้อัยการอีก 5 คน และตำรวจอีก 2 นาย จึงกลายเป็นหลักฐาน ให้ชุด 3 ป.วางแผนเข้าจับดังกล่าว



คดีนี้เริ่มจากเจ้าหนี้รายหนึ่ง ซึ่งข่าว 3 มิติ ตั้งชื่อเธอว่า หญิง เมื่อเดือนมิถุนายน และสิงหาคม ปี 64 หญิง ปล่อยกู้ให้ลูกหนี้ที่เป็นแม่และลูกสาว รวม 2 ล้าน 4 แสน 5 หมื่น โดยลูกหนี้นำโฉดนที่ดิน 2 แปลง มาค้ำประกัน



ต่อมาลูกหนี้คืนเงิน 5 แสน 5 หมื่น แล้วจะขอโฉนดคืนแต่หญิงไม่ยินยอมและแจ้งความเอาผิดลูกหนี้ จนเข้าสู่การฟ้องคดีแพ่ง ซึ่งศาลพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ เมื่อ 26 สิงหาคม 2565 ให้ลูกหนี้ผ่อนจ่าย 7 แสน 5 หมื่น หากลูกหนี้ผิดนัด ให้ หญิง บังคับคดีได้ 9 แสน และให้คืนโฉนดทั้ง 2 แปลงแก่ลูกหนี้



ปรากฎว่าเดือนกันยายนปี 65 พนักงานสอบสวน สภ.เมือง นครศรีธรรมราช แจ้งข้อหา หญิงและสามี ข้อหาลักทรัพย์คือโฉนดที่ดิน และวันที่ 13 มีนาคม 66 ก็แจ้งข้อหาปลอมเอกสารและลักทรัพย์ ซึ่งก็คือโฉนดที่ดิน โดยผู้แจ้งความ ก็คือลูกหนี้นั่นเอง



จากนั้นเป็นต้นมา หญิง ก็อ้างว่า ได้รับการติดต่อจากชาย ที่แทนตัวเองว่าเป็นอัยการ รวมทั้งหมด 11 ครั้ง ครั้งแรก ปี 66 หญิงอ้างว่า ชายคนนี้ใช้มือถือลงท้าย 13 โทรหา ให้หญิงไปหาที่สำนักงานอัยการ จ.นครศรีธรรมราช แต่หญิงไม่ได้



ครั้งที่สอง ทนายความของ หญิง แจ้งว่าอัยการโทรหา แจ้งให้หญิงไปพบ แต่หญิงไม่ได้ ครั้งที่สาม ตำรวจยศร้อยตำรวจเอก โทรหา หญิง แจ้งว่า อัยการให้เธอไปพบ เธอก็ไม่ได้ไปอีก



อย่างไรก็ตาม วันที่ 29 พฤษภาคม ปี 66 หญิง ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมถึงสำนักงานอัยการจังหวัด เพื่อขอให้พิจารณาสั่งไม่ฟ้อง พร้อมแนบรายละเอียดระหว่าง หญิง กับ ลูกหนี้ ที่คดีแพ่งถึงที่สุดแล้ว ให้อัยการด้วย



หญิงอ้างอีกว่า กลางเดือนพฤษภาคมปีนี้ ชายคนนี้โทรหาหญิงเป็นครั้งที่ 4 แจ้งให้เธอไปพบ วันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา หญิง จึงไปพบเป็นครั้งแรก พร้อมถ่ายภาพชื่อ สกุล หน้าห้องทำงานไว้ และพบว่าเขาเป็นอัยการจริง



ข้อมูลที่ข่าว 3 มิติ ได้รับนั้น พบว่าหญิงได้ลงบันทึก ระบุว่า อัยการได้บอกเธอว่าคดีของเธอจบยาก เพราะจำนวนเงินกู้ยืมในดคีไม่ลงตัว และขอให้เธอนำสลิป ที่โอนเงินให้ลูกหนี้ มาให้ดูด้วย หญิง บอกว่าหาไม่ได้เพราะนานมาแล้ว และเธอก็ยึดตามสัญญาประนีประนอมตามที่ศาลตัดสินและคดีถึงที่สุดไปแล้ว



อย่างไรก็ตามวันที่ 5 มิถุนายน หญิงได้รับสายอีกเป็นครั้งที่ 5 ให้เธอไปพบ เธอจึงไปพร้อมนำเอกสารคดีไปมอบให้อีก และนัดหมายอีกครั้ง19 มิถุนายน ซึ่งครั้งที่ 6 อัยการ โทรมาทวงเอกสารคำร้องที่แนะนำให้เธอเขียนใหม่ วันที่ 19 มิถุนายน ที่เธอไปได้นำคำฟ้องสัญญาเงินกู้ไปให้ด้วย แต่อัยการคนนี้แจ้งว่าหนังสือขอความ เป็นธรรมที่เธอเขียน ทำให้เขาทำงานยาก จึงแนะนำให้เธอเขียนใหม่ตามที่เขาบอก



หญิงอ้างว่าถูกโทรตามครั้งที่ 7 เธอจึงไปเมื่อ 25 มิถุนายน โดยระบุว่า อัยการคนนี้ได้บอกว่าคำร้องขอความเป็นธรรมที่เธอส่งไป ไม่มีข้อความที่เขาแนะนำ ทำให้เรื่องล่าช้า และต้องยุ่งยากในการเคลียร์ เพราะต้องเคลียร์อัยการอีก 5 คน ตำรวจ 2 คน ซึ่งอัยการ 1 ใน 5 และตำรวจ 1 ใน 2 คนนี้ เคลียร์ยากมากที่สุด



หญิงอ้างว่า การพบกันครั้งที่ 7 ได้ข้อสรุปตรงที่ มีการเรียกเงินสด 2 แสนบาท ซึ่ง หญิง มีหลักฐานเป็นคลิปเสียง และเธอจึงร้องทุกข์ต่อ ปปช.เมื่อ 26 มิถุนายน 67



วันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา เป็นครั้งที่ 8 หญิงก็ระบุว่า อัยการโทรหาให้เธอไปพบที่สำนักงานอัยการ ซึ่งเธอก็ไป ถือว่าเป็นครั้งที่ 5 ที่ได้เจรจากันต่อหน้า คราวนี้เธอต่อรอง ขอลดเงิน แต่เขาบอกว่าไม่ได้ เธอขอจ่ายเป็นงวดๆ เขาบอกว่าไม่มีที่ไหนทำกัน เธอถามว่าให้โอนหรือเงินสด เขาตอบว่า เงินสด ให้เอาไปให้ที่สำนักงานอัยการ



ครั้งที่ 9 วันที่ 4 กรกฎาคม หญิง ตัดสินใจมาพบเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ที่นนทบุรี ระหว่างที่ร้องทุกข์ที่ ป.ป.ช.นั้น มีสายโทรศัพท์ที่บันทึกชื่อว่า อัยการ โทรเข้าหาเธอ ต่อหน้าเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ด้วย ปลายสาย เร่งเร้าให้หญิงหาเงินไปจ่าย อ้างว่าเก็บสำนวนไว้นานแล้ว แม้หญิงจะบอกว่าต้องหายืมเงินญาติพี่น้อง แต่เขาก็พูดทำนองว่า เป็นเรื่องของ หญิง ที่ต้องไปจัดการ



วันที่ 16 กรกฎาคม หญิง ระบุว่า พบอัยการคนนี้โดยบังเอิญ ที่ริมถนนหลังโรงเรียนแห่งหนึ่งในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช เขาแจ้งให้หญิงไปพบที่สำนักงานอัยการได้โดยไม่ต้องโทรนัดล่วงหน้า เพราะอยู่สำนักงานตลอด



กระทั่งครั้งที่ 10 วันที่ 17 กรกฎาคม หญิงได้รับสายอีก แจ้งว่าอย่าลืมเร่งเรื่องเงินให้หน่อย ซึ่ง หญิง แจ้งว่าจะเข้าไปวันที่ 18 หรือไม่ก็ 19 กรกฎาคม



จากนั้น วันที่ 18 กรกฎาคม เวลาบ่ายโมง หญิง ก็นัดพบเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. และตำรวจ ป.ป.ป. เพื่อนำเงินของกลางไปบันทึกเป็นหลักฐานและขออุปกรณ์พิเศษ จากนั้นบ่าย 3 ก็ไปพบอัยการที่ห้องทำงาน บทสนทนาส่วนหนึ่งพบว่า อัยการคนนี้ถามว่ามีเงินให้ก่อนบางส่วนไหม หญิงจึงส่งให้ 5 หมื่น อัยการคนนี้รับแล้วเก็บไว้ พร้อมขอเพิ่มเป็น 2 แสน 5 อ้างว่าปกติเขาจ่ายกัน 3-5 แสน และขอให้เร่งรัดให้หน่อย โดยนัดอีกครั้งวันที่ 30 หรือ 31 กรกฎาคม ที่ผ่านมา



กระทั่งครั้งที่ 11 ก็คือ 31 กรกฎาคมที่ หญิง นำเงิน 1 แสน 5 ไปให้ แต่ครั้งสุดท้ายนี้ มีผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ช. รวมถึง เลขาธิการ ป.ป.ท.และรองผู้บัญชาการสอบสวนกลาง ที่นำหมายจับศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางไปด้วย



คดีนี้ผู้ต้องหาได้รับประกันตัวและอ้างกับชุดจับกุมว่าเงิน 2 แสนดังกล่าว เป็นเงินชำระหนี้สิน ซึ่งข้อเท็จจริงจากนี้จะพิสูจน์ในชั้นพนักงานสอบสวน



อย่างไรก็ตาม นักกฎหมายให้ข้อสังเกตว่าคดีนี้ มีข้อสงสัยหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นข้อกล่าวอ้างว่าต้องนำเงินไปกระจายให้หลายคนนั้น เป็นจริงหรือไม่ ยังมีคดีอื่นลักษณะเดียวกันที่เกิดกับผู้ต้องหาคนนี้อีกหรือไม่ และที่จริงแล้วคดีนี้มีคำพิพากษาศาลแพ่งตามสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างหญิงกับลูกหนี้มาแล้ว แต่ถูกใช้ประกอบการพิจารณาสั่งคดีตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวนหรือไม่ ซึ่งน่าจะเป็นประเด็นที่ถูกขยายไปถึง

คุณอาจสนใจ