สังคม

นักวิจัยไทยเผย 4 ฉากทัศน์สำคัญลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่ผ่านการปฏิบัติจริงนำมาปรับใช้ในกทม.

โดย chiwatthanai_t

7 ก.พ. 2566

97 views

ข่าว 3 มิติ ยังติดตามปัญหาค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 เกินค่ามาตรฐานอย่างต่อเนื่อง โดยวันนี้ (7ก.พ.66) ค่าฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของกรุงเทพมหานครลดลงมาอยู่ในเกณฑ์เกือบปกติเเล้ว ด้านนักวิชาการจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้นำเสนอ 4 ฉากทัศน์สำคัญที่จะทำให้ปัญหาฝุ่นลดลงได้ นำเสนอผ่านพื้นที่จริงที่ประสบความสำเร็จแล้ว สู่การปรับใช้ในกรุงเทพมหานคร


อีกจุดที่สังเกตได้ชัด คือ แนวสะพานภูมิพล ที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วแทบไม่สามารถสังเกตได้ แต่วันนี้มองเห็นได้ชัดเจนขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในเขตกรุงเทพมหานครที่ลดลงในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา โดยเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของวันนี้อยู่ที่ 10-25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ไม่เกินค่าเฉลี่ยมาตรฐาน


รศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญระดับสูง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. ได้เสนอ 4 ฉากทัศน์ของการจัดการฝุ่นและมลพิษทางอากาศ โดยเริ่มจากการปกป้องตัวเอง ลดการรับและสัมผัสฝุ่น PM 2.5 เช่น การตรวจเช็คข้อมูลคุณภาพอากาศทุกครั้ง เพื่อวางแผนการดำเนินชีวิตประจำวัน ขณะที่รถยนต์ซึ่งเป็นปัญหาหลักของมลพิษในตอนนี้สร้าง PM 2.5 คิดเป็นสัดส่วนมากถึงกว่าร้อยละ 59 จึงนำมาสู่ฉากทัศน์ที่ 2 คือการสนับสนุนให้เกิดเมืองแห่งยานยนต์ไฟฟ้า ตามมาด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมสะอาดให้มากขึ้น ในฉากทัศน์ที่ 3 ซึ่งรวมไปถึงอุตสาหกรรมการเกษตร ที่ลดการเผาทำลายวัสดุอุปกรณ์อีกด้วย


ส่วนฉากทัศน์ที่ 4 คือการใช้กลไกตลาดเสริมอำนาจให้ผู้บริโภค เมื่อผลิตภัณฑ์ต่างๆ หันมาคำนึงถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้ร่วมลดการสร้างมลพิษทางอ้อม โดยทั้งหมดต้องอาศัยระยะเวลาอย่างน้อย 15 ปี หรือ เสร็จสิ้นในปี 2578 ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดจำนวนวันที่ค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐานในกรุงเทพมหานครได้ ถึงร้อยละ 83.55 เหลือวันที่ค่าฝุ่นเกินมาตรฐานต่อปี เพียง 2-7 วันเท่านั้น จากเดิมที่กว่า 40-70 วันต่อปี


ด้านคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ เปิดเผยแนวทางที่เป็นไปได้หลังพบพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จด้านการจัดการ ด้วยการนำแอปพลิเคชันเข้าไปบริหารจัดการพื้นที่จังหวัดลำปางและสิงห์บุรี เพื่อลดการเผาพื้นที่เกษตรกรรม ทำให้จุดความร้อนในจังหวัดลดลงถึงกว่าร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยช่วง 5 ปีก่อนหน้า โดยเฉพาะพื้นที่ลำปางที่ลดลงไปถึงกว่า ร้อยละ 61 ของพื้นที่ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม


รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. ระบุว่า ปัจจุบันมีงานวิจัยด้าน PM2.5 เป็นจำนวนมาก แต่กลับถูกหยิบยกมาใช้แก้ปัญหาเพียงไม่กี่ชิ้น และไม่ถูกจุด ทาง สกสว. จึงร่วมกับ กพร. นำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องมาแก้ปัญหา PM2.5 ที่ซับซ้อน ให้ครอบคลุมทั้งระบบ ในเชิงแหล่งกำเนิด การติดตามและแก้ปัญหา ซึ่งเตรียมขยายไปสู่พื้นที่ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือต่อไป

คุณอาจสนใจ

Related News