สังคม

จับตาทิศทาง ป.ป.ช. หลังศาลยกฟ้อง 'สุเทพ' คดีฮั้วประมูลสร้างโรงพัก

โดย panwilai_c

20 ก.ย. 2565

137 views

คำตัดสินของศาลฎีกา ที่ยกฟ้องนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และจำเลยทั้งหมดรวม 6 คน ในคดีถูก ป.ป.ช.เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องตามข้อกล่าวหาฮั้วประมูล ก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทนและแฟลตตำรวจ รวม 396 วงเงินเสียหายกว่า 5,800 ล้านบาท โดยศาลวินิจฉัยว่าจำเลยไม่ได้ เสนอเรื่องให้นายกรัฐมนตรีทราบ ถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบวิธีการจัดจ้างโครงการ จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง และพิพากษายกฟ้อง



ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำ อม.22/2565 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือ ป.ป.ช.



เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 1, พลตำรวจเอกปทีป ตันประเสริฐ อดีตรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จำเลยที่ 2, พลตำรวจตรีสัจจะ คชหิรัญ จำเลยที่ 3, พันตำรวจโทสุริยา แจ้งสุวรรณ์ จำเลยที่ 4, บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอน สตรัคชั่น จำกัด จำเลยที่ 5, และนายวิศณุ วิเศษสิงห์ จำเลยที่ 6, ในความผิดฐานร่วมกันฮั้ว ประมูลโครงการก่อสร้าง สถานี ตำรวจทดแทน และอาคารที่พัก หรือ แฟลตตำรวจ รวม 396 แห่งทั่วประเทศ มูลค่าเสียหายกว่า 5,848 ล้านบาท



ซึ่งศาลวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดตามฟ้องและพิพากษายกฟ้อง โดยพิเคราะห์ว่าแม้โครงการนี้คณะรัฐมนตรีที่มี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีมติอนุมัติหลักการโครงการ และรับทราบรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงสินทรัพย์ เป็นทรัพย์สินตามที่กรมธนารักษ์เสนอ มาเป็นการของบประมาณผูกพันธ์ข้ามปี เป็นเวลา 3 ปี ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอ



แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ครม.ไม่ได้อนุมัติแนวทาง รูปแบบ หรือวิธีการจัดจ้าง เมื่อมีการเปลี่ยนรูปแบบการจัดซื้อจัดจ้างจากการ กระจายสัญญาการก่อสร้างไว้ที่ตำรวจภูธรภาค มาเป็นการรวมสัญญาไว้ที่ส่วนกลางเพียงสัญญาเดียว และเป็นการประมูล แบบอิเลคทรอนิกส์ จึงดำเนินการตามที่นายสุเทพ อนุมัติได้ เพราะรูปแบบและวิธีจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปตามอำนาจของหัวหน้าส่วนราชการ ที่เห็นชอบตามระเบียบ สำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง



และนายสุเทพ ซึ่งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขณะนั้น ไม่ได้เสนอเรื่อง ให้นายกรัฐมนตรีทราบ ถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบวิธีการจัดจ้างโครงการดังกล่าว จึงไม่ถือว่าเป็นการละเว้นการ ปฏิบัติหน้าที่ หรือปฎิบัติหน้าที่ให้เสียหายต่อทางราชการเพราะมติ ครม.จะมีผลผูกพันเฉพาะเรื่องที่หน่วยงานต้องขออนุญาตเท่านั้น



ส่วนจำเลยที่ 2 ศาลพิพากษาว่า เป็นการเสนอรูปแบบการจัดจ้างตามสายงาน ในฐานะรักษาการแทน ผบ.ตร.ในขณะนั้นไม่ว่า จำเลยที่ 1จะให้ความเห็นชอบหรือไม่ก็ตาม จึงไม่ถือเป็นการละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ เช่นเดียวกับ จำเลยที่ 3 และ 4 ในฐานะประธาน และเลขานุการกรรมการ การจัดซื้อจัดจ้าง ศาลยกฟ้อง เพราะดำเนินการตามขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งส่งผลให้จำเลยที่ 5 และ 6 ที่เป็นบริษัทเอกชน ไม่มีความผิดด้วย ศาลพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหมด



นายสุเทพ เปิดเผยหลังรับฟังคำพิพากษาว่าวันนี้เป็นวันสำคัญที่สุดของชีวิต หลังจากพยายามต่อสู้คดีและสู้กับคำครหามา 8-9 ปี



ขณะที่นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยหลังมีคำตัดสินว่าสำนักคดีสำนักงาน ป.ป.ช. ต้องขอคัดสำเนาคำพิพากษาฉบับเต็มมาพิจารณา และวิเคราะห์เพื่อส่งไปที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป แต่กฎหมายศาลฎีกาฉบับใหม่ เปิดช่องให้โจทก์และจำเลยยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาพิจารณาอีกรอบได้ภาย 30 วัน ตามมาตรา195 แห่งรัฐธรรมนูญ



คดีนี้นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีต สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรครักประเทศไทยอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อปี 2555 กรณี ความผิดปกติของการจัดซื้อจัดจ้างสร้างสถานีตำรวจ 396 แห่ง ซึ่งอ้างอิงจากหลักฐานว่า มีการเปลี่ยนรูปแบบสัญญา การจัดซื้อ จัดจ้างจากเดิมเป็นรายตำรวจภูธรภาค เปลี่ยนเป็นการดำเนินการรวมโดยส่วนกลาง ซึ่งอนุมัติโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ขณะเป็นรองนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2552 นำมาซึ่งการตรวจสอบโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ และส่งสำนวน พร้อมหลักฐาน ให้ ป.ป.ช.พิจารณา กระทั่ง ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดนายสุเทพ เมื่อปี 2562 จากนั้น ป.ป.ช. และอัยการ ได้พิจารณสำนวนหลักฐานพร้อมกัน และยื่นฟ้องเมื่อปี 2564 จนศาลฎีกาได้พิพากษาแล้ววันนี้



สำหรับสถานีตำรวจทดแทนและแฟลตตำรวจ รวม 396 แห่ง ขณะนี้พบว่าถูกสร้างแล้วเสร็จทั้งหมด ด้วยงบประมาณของ สำนักงาน ตำรวจแห่งชาติ แต่ค่าชดเชยเสียหายนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด และศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมาให้บริษัท พีซีซี ต้องชดใช้ค่าเสียหาย เป็นจำนวนเงิน1,500 ล้านบาทให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่เส้นทางการต่อสู้ทางคดียังเหลืออีกชั้นคือศาลปกครองสูงสุด

คุณอาจสนใจ

Related News