เลือกตั้งและการเมือง

เปิดความเห็น 'อดีตตุลาการ - อดีต กรธ.' มองต่างมุม ‘วาระ 8 ปี นายกฯ’

โดย JitrarutP

11 ส.ค. 2565

377 views

เปิดความเห็น “อดีตตุลาการ – อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ” มองต่างมุม ปมวาระ 8 ปี นายกฯ “อ.มีชัย - อ.เจษฎ์” ชี้ควรนับตั้งแต่ปี 2557 ด้าน “อ.จรัญ” ระบุ ควรนับจากปี 2560 ขณะ “อ.สุพจน์” บอกควรเริ่มจากปี 2562

รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก ที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ส่วนตัวแล้ว เห็นว่าควรต้องนับวาระการดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งจะครบกำหนดใน วันที่ 23 ส.ค.นี้ เพราะตามรัฐธรรมนูญ กำหนดบทเฉพาะกาลไว้ชัดเจนว่าคณะรัฐมนตรี ที่อยู่ก่อนรัฐธรรมนูญปี2560 มีผลบังคับใช้ ให้ถือเป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ2560ด้วย ดังนั้นการเป็น นายกรัฐมนตรี ของพลเอกประยุทธ์ จึงถือว่าได้นับ มาตั้งแต่ปี 2557 แล้วและมีผลตามรัฐธรรมนูญปัจจุบันทุกประการ

ซึ่งแนวทางนี้ อย่างสอดคล้องกลับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีต ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ให้ความเห็นไว้ตามบันทึกการประชุมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญว่า การที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้คณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นคณะรัฐมนตรีอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญ60 บังคับใช้ ให้ถือเป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 60 จนกว่า จะมีคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งใหม่หลังการเลือกตั้ง นั้น สามารถนับระยะเวลา การเป็นนายกรัฐมนตรีก่อนหน้ารัฐธรรมนูญ60 รวมกับการเป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ60 ได้

ขณะที่ ความเห็นของ ศ. จรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มองว่าแนวทางที่2 มีความเป็นไปได้มากที่สุด เพราะหากตีความตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ที่ระบุให้คณะรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ ให้เป็นคณะรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ 2560 นั้น ก็เท่ากับว่า นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ก่อนหน้า มีสถานะเป็นนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 ตั้งแต่ที่รัฐธรรมนูญ 2560 มีผลบังคับใช้ ดังนั้นเงื่อนไขต่างๆ ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็จะเริ่มมีผลโดยไม่ได้ ส่งผลย้อนหลัง ไปยังรัฐธรรมนูญก่อนหน้า

ด้านนายสุพจน์ ไข่มุกด์ อดีตรองประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. และอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แม้จะเคยเห็นด้วยกับแนวทางแรก ตามที่เคยให้ความเห็นไว้ในที่ประชุมกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

แต่ล่าสุด ยืนยันว่าควรเป็นไปตามแนวทางที่3 การนับวาระ8ปีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ควรนับตั้งแต่การได้เป็นนายกรัฐมนตรีโดยสมบูรณ์ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 คือตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2562 เป็นต้นมา เพราะหากนับก่อนหน้านั้น ถือว่าเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ไม่ใช่นายกรัฐมนตรีโดยสมบูรณ์ตามรัฐธรรมนูญ2560 ดังนั้นโดยประเพณีการปกครอง ต้องนับตั้งแต่วันที่ได้รับโปรดเกล้าฯ ลงมาหลังการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตามความไม่ชัดเจนเรื่องนี้ ผู้มีอำนาจวินิจฉัยคือ ศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีอำนาจโดยตรงในการตีความตัวบทกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งฝ่ายค้านเตรียมยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 17 ส.ค.นี้  จึงเป็นที่จับตาว่า ทั้ง 3 แนวทาง ที่ว่ามานี้ศาลจะให้น้ำหนักและชี้ขาดไปยังแนวทางใด

คุณอาจสนใจ

Related News