เลือกตั้งและการเมือง

อ.นิติ วิเคราะห์ทิศทางหลังยุบสภา ชี้หาก ส.ว.ยังมีบทบาทเลือกนายกฯ ก็หวังการเปลี่ยนแปลงยาก

โดย panwilai_c

20 มี.ค. 2566

122 views

สำหรับไทม์ไลน์การเมืองหลังการยุบสภา ต้องจับตาไปที่การประกาศวันเลือกตั้งของ กกต. ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีขึ้นภายในวันที่ 14 พฤษภาคม พร้อมกับการหาเสียงเลือกตั้งที่เข้มข้น ท่ามกลางเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล และการรักษาอำนาจเดิม ที่นักวิเคราะห์การเมืองและนักกฏมหาย เชื่อว่ายังเป็นเรื่องยากหาก ส.ว.ยังมีบทบาทในการเลือกนายกรัฐมนตรี



ขั้นตอนแรกหลังยุบสภา คือการประกาศวันเลือกตั้ง ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งจะประชุมกันในวันที่ 21 มีนาคม ที่ต้องประกาศภายใน 5 วันนับจากวันยุบสภา และต้องจัดเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 45 วันไม่เกิน 60 วัน ซึ่งคาดการณ์กันว่าจะมีขึ้นภายในวันที่ 14 พฤษภาคม รวมถึงการประกาศวันรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต และส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยระหว่างนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ยังปฏิบัติหน้าที่ต่อ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 168 ที่มีเงื่อนไข ไม่สามารถอนุมัติงานที่ผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีใหม่ได้ ไม่แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ เว้นแต่จะได้เห็นชอบจาก กกต. รวมถึงไม่อนุมัติงบสำรองจ่ายฉุกเฉิน และไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐในการเลือกตั้ง



สำหรับการยุบสภา จะส่งผลให้ ส.ส.สามารถย้ายพรรคได้ภายใน 30 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง รวมถึงข้อกำหนดการหาเสียง ที่ก่อนหน้านี้กำหนดไว้ 180 วัน หากรัฐบาลครบวาระ ก็สิ้นสุดไป ซึ่งนักกฏหมายมองว่า ยอมเกิดประโยชน์กับพรรคการเมือง ที่ต้องการเช็คกำลังก่อนวันเลือกตั้ง



สำหรับพรรคการเมืองการประกาศยุบสภาวันนี้อาจไม่เกินความคาดหมาย เพราะทุกพรรคได้เตรียมพร้อมในการเลือกตั้ง เดินสายหาเสียงและเปิดตัวผู้สมัครกันตั้งแต่ก่อนที่ กกต.จะประกาศเขตเลือกตั้ง แต่ยังเป็นห่วงการแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 เขต ที่อาจจะส่งผลให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะหรือไม่ แต่นักกฏหมายเชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เข้าสู่สนามการเมืองด้วยตัวเอง จึงย่อมมีเดิมพันสูง ที่หากจะล้มการเลือกตั้ง ก็ย่อมไม่เกิดประโยชน์



การเลือกตั้งครั้งนี้นอกจากผลการเลือกตั้งจะเป็นตัวชี้วัดในการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว การเลือกนายกรัฐมนตรี ยังเป็นเงื่อนไขสำคัญ เพราะยังมีเสียงของ ส.ว. 250 เสียงมาเลือกนายกรัฐมนตรี แม้พรรคเพื่อไทย จะชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ ถ้าเกิน 310 เสียงอย่างที่ตั้งเป้า ก็เกิน 250 เสียงเป็นรัฐบาลได้ แต่เป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้ เพราะต้องรวมเสียงส.ว.แล้วต้องได้มากกว่า 376 เสียง จึงเกิดกระแสข่าวดีลลับเพื่อไทยและพลังประชารัฐ ให้พลเอกประวิตร วงษ์สุวรณ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ หากพรรคเพื่อไทยและพรรคฝ่ายประชาธิปไตย ได้เสียงไม่พอที่จะเลือกนายกรัฐมนตรีได้



ความน่าสนใจจึงยังต้องจับตาไปที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ทั้งในส่วนพรรคเพื่อไทย ที่มีทั้งนางสาวแพทองธาร ชินวัตร และนายเศรษฐา ทวีสิน สุดท้ายแล้วใครจะเป็นตัวจริง เช่นเดียวกับ พลเอกประวิตร วงษ์สวุรรณ จะโดดเดี่ยวพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้จริงหรือไม่ ซึ่งสุดท้าย การเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่ยุ่งยาก หาก ส.ว.จะเคารพเสียงของประชาชน ประกาศไม่เลือกนายกรัฐมนตรี



ไทม์ไลน์การเมืองหลังการยุบสภา นอกจาการหาเสียงจะเข้มข้นแล้ว สิ่งที่น่าจับตาที่สุดคือผลการเลือกตั้ง ที่แม้ฝ่ายใดจะจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่ รวมถึงระหว่างทางจะมีเกมการเมืองใด มาชี้ชะตา อีกไม่เกืนสองเดือนนี้ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสิน

คุณอาจสนใจ

Related News