เศรษฐกิจ

‘ชัชชาติ’ แจงตั๋ว รฟฟ.สายสีเขียว ส่วนต่อขยายควรเก็บไม่เกิน 59 บาท เป็นแผนระยะสั้น คนละเรื่องกับหาเสียง

โดย petchpawee_k

29 มิ.ย. 2565

46 views

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ แจง ราคาค่าตั๋วรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ควรเก็บไม่เกิน 59 บาท เป็นแนวคิดระยะสั้น ไม่ได้หมายถึงแผนระยะยาว ที่ยังมีสัญญาถึงปี 2572 ยืนยัน ค่าบริการเฉลี่ยควรอยู่ที่ 30 บาท ตามนโยบายที่หาเสียงไว้   ไม่ใช่สถานีต้นทาง-สถานีปลายทาง แต่เป็นจำนวนสถานีเฉลี่ย ที่คนใช้บริการจริง เฉลี่ยประมาณ 11 สถานี


จากการที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2565 ถึงเรื่องกำหนดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวตลอดสายไม่เกิน 59 บาท รวมถึงส่วนต่อขยายส่วนที่ 2 แบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ และห้าแยกลาดพร้าว-คูคต โดยอ้างอิงถึงข้อเสนอของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นั้น


เมื่อวานนี้ ( 28 มิ.ย.) น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค  กล่าวว่า สภาองค์กรของผู้บริโภคคัดค้าน การกำหนดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวดังกล่าว เนื่องจากราคา 59 บาท จะทำให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยจำนวนมากในกรุงเทพมหานคร หมดโอกาสใช้บริการรถไฟฟ้าเพื่อการเดินทางในชีวิตประจำวัน ต้องหันมาพึ่งรถโดยสารสาธารณะที่ก่อให้เกิดปัญหาจราจร มลพิษทางอากาศ สภาวะความเครียดจากการใช้เวลาบนท้องถนน ในสภาวะค่าครองชีพพุ่งสูงสะท้อนทรรศนะที่ไม่มองบริการรถไฟฟ้าเป็นขนส่งมวลชน หรือเป็นบริการสาธารณะเพื่อคุณภาพชีวิตของผู้บริโภค


ที่ผู้ว่าฯ กทม.ประกาศเห็นชอบราคา 59 บาท พวกเราผิดหวังมาก และคัดค้าน ขอให้ใช้ราคา 44 บาท คิดว่า 44 บาทเป็นราคาสูงสุดที่ใกล้เคียงกับรถไฟฟ้าทุกสาย ทุกเส้นในปัจจุบัน และเราจะได้มีเพดานราคา และอยากเห็นผู้ว่าฯ กทม. เอาตั๋วเดือนของผู้บริโภคกลับมา ทำให้ผู้บริโภคสามารถใช้บริการรถไฟฟ้าได้ทุกวันจริง ๆ  และวิกฤติพลังงาน วิกฤติข้าวของแพง ทำให้อยากเห็นว่า กทม.ควรจะลดค่าครองชีพของผู้บริโภค คิดว่านี่เป็นสิ่งที่สภาองค์กรผู้บริโภคคาดหวัง  รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลที่อึมครึม เช่น การคิดราคา 59 บาท มาจากไหน เหมือนกลัดกระดุมเม็ดแรกผิด


เพราะเรามองว่ารถไฟฟ้าไม่ใช่บริการขนส่งมวลชนหรือขนส่งสาธารณะ ถ้ามองว่านี่เป็นขนส่งมวลชนใน กทม. ที่ผู้ว่าฯ กทม. มีหน้าที่สนับสนุน จะกลัดกระดุมเม็ดแรกให้อย่างน้อยก็พอใจจากฝั่งผู้บริโภค การกลัดกระดุมเม็ดแรกสำคัญ ทำให้ราคาสูงสุดของทุกสาย ใกล้เคียงกัน และเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคจับต้องได้ ขึ้นได้ทุกวัน


ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า ต้องรอดูความชัดเจน ต้องไปดูต้นเรื่อง ส่วนตัวได้มีการหารือกับผู้ว่าราชการกรุงเทพฯแล้ว ซึ่งปัญหาดังกล่าวนั้นต้องไปดูที่ต้นทางว่ามีปัญหาอะไร ซึ่งเปรียบเสมือนการสวมเสื้อ หากติดกระดุมเม็ดแรกผิดก็ต้องแก้ใหม่ทั้งหมด ส่วนจะกลัดถูกได้เมื่อไหร่นั้น คงต้องไปดูที่ศูนย์รับผิดชอบอื่นที่นอกเหนือจากกระทรวงคมนาคม  ซึ่งที่ผ่านมาปลัดกระทรวงได้มีการเชิญปลัดกรุงเทพมหานครหารือร่วมกันแล้ว แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป


ขณะที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  ได้ออกมาชี้แจงถึงประเด็นนี้ว่า  ค่าบริการส่วนต่อขยายส่วนที่สองของรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ระบุไว้เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่ามา ว่าราคาควรจะอยู่ที่ 59 บาท ประเด็นนี้ทำให้หลายคนเข้าใจคลาดเคลื่อน



สิ่งที่พูดเมื่อวานคือ ปัญหาตอนนี้ รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวที่ให้บริการอยู่ขณะนี้ ไม่ได้เรียกเก็บค่าบริการใดๆ เปิดให้บริการฟรีอยู่ แต่ กทม.ยังต้องเสียค่าจ้างเดินรถทุกเดือน ล่าสุดสัปดาห์ กทม.เข้าพบทีมผู้บริหาร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) มีข้อมูลเสนอมาว่า ควรจัดเก็บค่าบริการส่วนต่อขยาย ไม่ให้เกินค่าสูงสุดที่กำหนดไว้ 59 บาท ดังนั้นราคา 59 บาทที่ให้ข้อมูลไป ไม่ใช่แผนแก้ปัญหาระยะยาวของรถไฟฟ้าสายสีเขียว แต่เป็นแผนระยะสั้นแก้ปัญหนี้สะสมที่ค้างชำระค่าจ้างเดินรถเป็นจำนวนมาก


ผู้ว่าฯกทม.กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับตัวเลข 59 บาทที่เสนอมา ทางกทม.เอง ได้มอบหมายให้สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานครพิจารณาข้อมูลอยู่ด้วยเช่นกัน คาดว่าจะใช้สูตรการคำนวน (14+2x) ซี่ง x คือจำนวนสถานีที่ผู้โดยสารนั่ง เท่ากับค่าบริการ โดยจะไม่ให้เกินค่าบริการสูงสุดเดิมที่ระบุไว้ เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบ



นายชัชชาติ ย้ำว่า ตัวเลข 59 บาท ต้องการแก้ปัญหาระยะสั้นของส่วนต่อขยาย ที่ผ่านมา กทม. ยังต้องจ่ายค่าจ้างเดินรถ คิดเป็นเงินหลายพันล้านบาทต่อปี ถ้าเป็นระยะยาวจะต้องนำเรื่องสัมปทานมาพิจารณาด้วย เพราะสัญญาจะหมดปี 2572


จากข้อมูลพบว่า รถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย มีผู้ใช้บริการมากถึงร้อยละ 27 ของผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั่งหมด ถือว่าเป็นจำนวนที่มากพอสมควร แต่คนเหล่านี้ยังนั่งฟรี ในขณะที่คนอื่นๆ ประชาชนทั่วไปต้องมาช่วยจ่าย เพราะต้องยอมรับว่า เงินที่ กทม.นำไปจ่ายค่าจ้างเดินรถ เป็นเงินภาษีของทุกคน ที่นำมาช่วยจ่าย จนกลายเป็นว่า คนที่ไม่ได้นั่งรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย ก็ต้องจ่ายเงินไปด้วย เพราะเป็นการเอาภาษีไปจ่ายแทน ค่าบริการที่ไม่ได้เก็บจากคนนั่ง



และอีกปัญหาอีกส่วนหนึ่งคือคนที่ให้บริการรถสาธารณะใต้แนววิ่งรถไฟฟ้า ต่างได้รับผลกระทบเพราะรถไฟฟ้านั่งฟรี คนให้บริการด้านล่างทำมาหากินไม่ได้ เรื่องนี้ไม่ยุติธรรมกับผู้ประกอบการด้านล่าง



ทั้งนี้ ผู้ว่าฯชัชชาติ ยังกล่าวย้ำว่า 59 บาทคือราคาที่ตั้งไว้เพื่อแก้ปัญหาระยะสั้นในส่วนต่อขยาย เป็นคนละเรื่องกับค่าบริการที่หาเสียงไว้ก่อนเลือกตั้ง สำหรับนโยบายที่เคยหาเสียงไว้ว่าค่าบริการรถไฟฟ้าควรจะอยู่ที่ 25 -30 บาทนั้น ไม่ได้หมายความว่านั่งจากสถานีต้นทาง-สถานีปลายทาง คิดราคา 25-30 บาท แต่ 25-30 บาท เป็นค่าบริการ จากราคาค่าโดยสารเฉลี่ยที่คนใช้บริการจริง ซึ่งเดิมคิดราคาเฉลี่ย จากค่าใช้บริการ จำนวนสถานี 8 สถานี แต่ล่าสุดทางสำนักการจราจรและขนส่งกรุงเทพมหานคร ได้คำนวณราคาเฉลี่ยใหม่ โดยคิดจากค่าใช้บริการ จำนวน 11 สถานี


นักข่าวถาว่า ที่สภาเสนอว่าให้เก็บราคา 25 บาท จะเป็นไปได้ไหม นายชัชชาติบอกว่า หลังหมดสัญญาปี 2572 ที่รายได้ทั้งหมดเป็นของ กทม. เราจะเก็บ 0 บาทก็ได้ แต่ยังมีค่าจ้างเดินรถซึ่งทำสัญญาจ้างไปถึงปี 2585 ค้ำคออยู่ ซึ่งเราต้องเอารายได้ไปจ่ายค่าเดินรถ ปัญหาว่าจะกำหนดราคาเท่าไหร่จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรา แต่ขึ้นอยู่กับว่าสัญญาที่เราไปเซ็นล่วงหน้าปี 2572 ถึง 2585 นั้นตามสัญญาระบุว่าจะจ่ายค่าเดินรถเขาเท่าไหร่



 ส่วนความไปได้ที่จะมีการยกเลิกสัญญาปี 2572 ถึง 2585 มองว่าทางดีที่สุดคือยกเลิกแล้วประมูลใหม่ แต่ว่าสัญญาได้เซ็นไปแล้ว และจากที่คณะกรรมการไปต่อรอง ถ้าจะยกเลิก ต้องจ่ายค่าเสียหายจำนวนมหาศาล เราจะยอมจ่ายไหม ตรงนี้เป็นความละเอียดอ่อนที่ต้องไปดู



นักข่าวถามถึงประเด็น ถ้ามีคนฮั้วกันในสมัยนั้น เราสามารถยกเลิกโดยเอกชนไม่ฟ้องเราย้อนหลังได้ไหม นายชัชชาติตอบว่า ตรงนี้ต้องดูให้ดี บางเรื่องที่อยู่ในศาลก็ต้องรอให้ศาลสั่ง แต่ถ้าสัญญาเอกชนไม่ผิดกฎหมาย เรายกเลิกไม่ได้ โดยเราต้องยุติธรรมกับเขาเหมือนกัน เพราะสัญญา ถ้าเราไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผิดกฎหมาย มันก็ยกเลิกยาก เพราะถ้ายกเลิกไป แล้วเขาฟ้องเรา เราก็จะโดนค่าโง่ มันก็เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนที่จะต้องดูให้ละเอียด



 และต้องทำงานหลายส่วน ทั้งสภากรุงเทพ, กรุงเทพ, กรุงเทพธนาคม, เอกชน อาจมีกระทรวมคมนาคม และมหาดไทยด้วย เพราะเงินส่วนนี้เยอะ ซึ่งพยายามทำเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนสูงสุด และต้องขอโทษ ที่อาจจะสื่อความหมายเข้าใจผิด



รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/V7u1rraCI74

คุณอาจสนใจ

Related News