เศรษฐกิจ
เริ่มหมดแรง! เจ้าของร้านอาหารญี่ปุ่น โอดเจอคำสั่งงดกินในร้าน ยันหนุนล็อกดาวน์ แต่ต้องมีมาตรการรองรับ
โดย thichaphat_d
28 มิ.ย. 2564
202 views
เจ้าของร้านอาหารญี่ปุ่น โอดรัฐบาลออกมาตรการงดกินอาหารในร้าน เผย “ทำให้ผู้ประกอบการบาดเจ็บล้มตายเร็วขึ้น เป็นการตกย้ำคนทำมาหากิน” หนุนล็อกดาวน์แต่ต้องมีมาตรการเยียวยาผู้ประกอบธุรกิจ ลั่น! โควิดระลอกนี้เหมือนโดนเฉือนแรง ๆ
ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ออกประกาศใช้มาตรการเร่งด่วนเพื่อควบคุมการระบาดไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่เป้าหมาย 10 จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด มีผลวันจันทร์ ที่ 28 มิ.ย.นี้ ในประกาศให้จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มเฉพาะนำกลับไปบริโภคที่บ้าน ,งดนั่งรับประทานในศูนย์อาหาร
นายรณกาจ ชินสำราญ ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท มากุโระ กรุ๊ป จำกัด กลุ่มร้านอาหารญี่ปุ่นแบรนด์มากุโระ มีมากถึง 10 สาขา เผยกับผู้สื่อข่าวทางโทรศัพท์ถึงมาตรการดังกล่าวว่า กำลังเริ่มฟื้นตัวยอดขายกำลังเริ่มกลับมา รู้สึกช็อก เมื่อมีออกประกาศใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิดงดนั่งรับประทานอาหารในร้าน นานกว่าที่คาดการณ์ไว้จาก 15 วัน เป็น 30 วัน ทุกอย่างที่สร้างมาเริ่มหมดแรง หลายร้านหลายกิจการสายป่านเริ่มไม่พอ
หากควบคุมการแพร่ระบาดไม่อยู่ การฉีดวัคซีนมีความล่าช้า ยังมีคำสั่งห้ามนั่งทานอาหารในร้านอีก ก็ไม่รู้ว่าจะต้องเจอสถานการณ์แบบนี้อีกนานแค่ไหน อีกกี่เดือน ผู้ประกอบการไม่สามารถคาดเดาได้ว่าสถานการณ์จะดีขึ้นหรือเร็วร้ายอย่างไร ย่ำแย่ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน
“ยอมรับว่าขาดความเชื่อมั่นกับรัฐบาล ยิ่งรัฐบาลไม่มีความชัดเจนผู้ประกอบการ เจ้าของร้านอาหารยิ่งได้รับความเดือดร้อน ปั่นป่วนไปหมด เงินที่สำรองไว้ใช้สูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ตนไม่มีความเชื่อมั่นกับรัฐบาลอีกต่อไปแล้วเชื่อว่าหลาย ๆ คนคงคิดเหมือนกัน”
โควิดระลอก 1 บาดเจ็บสาหัสที่ล็อกดาวน์ ระลอก 2 ถูกสะกิดให้แผลเปิด ระลอก 3 เหมือนโดนเฉือนแรง ๆ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ตอนนี้ไม่ไหวแล้วจริง ๆ ธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นของตนถือว่าโชคดีที่ลูกค้ายังให้ความนิยมตอบรับดีมาเรื่อย ๆ โดยครึ่งปี 2563 ที่ผ่านมา ธุรกิจฟื้นตัวขึ้นมา ร้านกลับมามีกำไร มากพอสมควรประมาณหนึ่ง
ช่วงเดือนกุมภาพันธ์- มีนาคม ปี 2564 ทางร้านถือว่ายังฟื้นตัวอยู่ได้ พอช่วงเดือนเมษายน ก็กลับมาย่ำแย่อีก ทางร้านพยายามปรับตัว เช่น ขายแบบเดลิเวอรี่ แต่บางประเภทอาหารไม่เหมาะกับนั่งทานที่บ้าน ทั้งนี้ทางร้านของตนพยายามหาช่องทางการขายรูปแบบใหม่ เช่นเดียวกับผู้ประกอบการรายอื่นต่างก็กลับตัวเช่นเดียวกัน
“หากรัฐบาลจะควบคุมการแพร่ระบาดโควิดควรที่จะล็อกดาวน์ ตนสนับสนุนให้มีการล็อกดาวน์ แต่ถ้าล็อกดาวน์แล้วจบก็ควรมีมาตรการอะไรบางอย่างมาสนับสนุนเยียวยา ให้กับทุกผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ การที่นั่งกินอยู่ในร้านไม่ได้แต่ซื้อกลับบ้านได้ แต่บางกิจกรรมทำได้อยู่ ไม่รู้ว่าจะช่วยลดจำนวนการแพร่ระบาดลงหรือไม่ หากระยะเวลาผ่านไปจำนวนผู้ติดเชื้อไม่ลดลงแต่กลับเพิ่มขึ้น สุดท้ายก็จะเกิดความสูญเปล่า”
นายรณกาจ กล่าวอีกว่า “มาตรการที่รัฐบาลออกมาทำให้ผู้ประกอบการบาดเจ็บล้มตายเร็วขึ้น เป็นการตกย้ำคนทำมาหากิน” ก่อนหน้านี้ตนได้ไปร่วมเสวนา ซึ่งผู้ประกอบการร้านอาหารมีข้อเสนอไปยังรัฐบาล เช่น รัฐบาลควรมีความชัดเจนด้านการสื่อสารเพื่อให้ประชาชนได้เตรียมตัว, อยากให้รัฐบาลมีความเข้าใจในปัญหานั้นจริง ๆ และแก้ปัญหาให้ตรงจุด เช่น ห้ามนั่งทานอาหารในร้านแต่ออกประกาศล่วงหน้าแค่ 1 วัน ซึ่งอาจไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด, อยากให้รัฐบาลสร้างความจริงใจความมั่นใจให้กับประชาชนให้มาก ๆ เห็นอกเห็นใจประชาชน
ตนมองว่าหากรัฐบาลทำได้ตามข้อเสนอดังกล่าว ประชาชนก็พร้อมจะให้ความร่วมมือ จะส่งผลให้การจัดการบริหารของรัฐบาลง่ายขึ้น ผลกระทบน้อยลง ตนก็ไม่รู้ว่าข้อเสนอต่าง ๆ ที่กลุ่มผู้ประกอบการเสนอไปยังรัฐบาลนั้นจะถึงนายกฯ หรือไม่ จึงไม่รู้จะได้รับการตอบรับหรือไม่
“มาตรการต่าง ๆ ออกได้ แต่ควรช่วยเหลือเยียวยาที่สมเหตุสมผล จะออกมาตรการอะไรก็ออกมาเถอะ แต่ก็ไม่ควรที่ทำให้คนโดนมาตรการนั้นลำบาก ที่ผ่านมาผู้ประกอบการไม่ใช่เฉพาะธุรกิจร้านอาหาร ทุกธุรกิจไม่เคยได้รับการเยียวยาอะไรเลยจากรัฐบาล”
รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/O93R6TqnFII
แท็กที่เกี่ยวข้อง ร้านอาหารญี่ปุ่น ,ห้ามกินอาหารในร้าน ,ห้ามนั่งกินในร้านอาหาร ,ล็อกดาวน์