ตั้งเอาผิดวินัย ส.ต.ต.ขี่บิ๊กไบค์ชน "หมอกระต่าย" โดยไม่ต้องรอฟังคดีอาญา

สังคม

ตั้งเอาผิดวินัย ส.ต.ต.ขี่บิ๊กไบค์ชน "หมอกระต่าย" โดยไม่ต้องรอฟังคดีอาญา

โดย pattraporn_a

24 ม.ค. 2565

116 views

กระแสการทวงคืนความปลอดภัยบนทางม้าลาย หลังเกิดคดีตำรวจขับจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ ชนแพทย์หญิงเสียชีวิตบนทางม้าลาย ข้อเรียกร้องสำคัญในคดีคือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ควรต้องให้ความชัดเจนของรถที่ตำรวจนายนี้ นำมาใช้ ว่า เป็นรถซื้อมา รถโอนลอย หรือ รถผิดกฎหมาย หรืออาจเป็นรถของกลาง


พลตำรวจตรี นครินทร์ สุคนธวิท ผู้บังคับการกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน เปิดเผยว่า สิบตำรวจตรี นรวิชญ์ บัวดก ได้บวชเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับแพทย์หญิงวราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือหมอกระต่าย แต่อย่างไรก็ตาม



ทางต้นสังกัดก็ได้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วตั้งแต่เมื่อวานนี้ ซึ่งหลังจากนี้จะมีการเรียกประชุมคณะกรรมการฯ กำหนดแนวทางในการสอบสวน และเรียกตัว สิบตำรวจตรี นรวิชญ์ มาให้ปากคำ ซึ่งยังไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลาชัดเจน แต่คาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน โดยคณะกรรมการฯ จะตรวจสอบในทุกประเด็น โดยเฉพาะการเป็นข้าราชการตำรวจแต่ไม่เคร่งครัด ไปกระทำผิดกฎหมาย เบื้องต้นเห็นชัดเจนแล้วว่ามีการกระทำผิดฐานขับรถด้วยความเร็ว , ขับรถไม่ชิดขอบทางด้านซ้าย , และขับรถโดยไม่ใช้ความระมัดระวังจนมีผู้ถึงแก่ชีวิต


หากศาลพิพากษาลงโทษจำคุก ก็จะทำให้ สิบตำรวจตรีนรวิชญ์ ขาดคุณสมบัติ ต้องลงโทษทางวินัยถึงขั้นให้ออกจากราชการ แต่จนถึงขณะนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังไม่ได้ชี้แจงที่มาที่ไปของรถจักรยานยนต์ ที่ตำรวจขับ ว่าได้จดทะเบียนถูกต้องหรือไม่ และเป็นรถของกลาง หรือรถส่วนตัว ซึ่งหลายฝ่ายเรียกร้องให้แถลงความชัดเจนในเรื่องนี้


ส่วนประเด็น ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันทางสื่อสังคมออนไลน์ว่า สิบตำรวจตรีนรวิชญ์ เป็นคนไข้ที่รักษาตา กับ หมอกระต่ายผู้เสียชีวิตนั้น ล่าสุด โฆษกโรงพยาบาลตำรวจ ยอมรับว่า มีความบังเอิญในระดับหนึ่ง แต่สิบตำรวจตรีนรวิชญ์ ไม่ใช่คนไข้ประจำของหมอกระต่าย เพียงแต่หลังเกิดเหตุ สิบตำรวจตรี นรวิชญ์ ได้ไปรักษาตาที่โรงพยาบาลตำรวจ ทางแผนกตา ได้ตามแพทย์เวรในช่วงเวลานั้น แต่ติดต่อไม่ได้ จึงให้ยาหยอดตาจนอาการดีขึ้น จนมารู้ภายหลังว่า แพทย์เวร ที่ติดต่อไม่ได้ ได้เสียชีวิต เพราะ ถูกสิบตำรวจตรีนรวิชญ์ ขับรถชนนั่นเอง โฆษกโรงพยาบาลตำรวจยังเปิดเผยด้วยว่า หมอกระต่าย เป็นลูกจ้างชั่วคราวของโรงพยาบาลตำรวจ ที่รอการบรรจุเป็นข้าราชการในเร็วๆ นี้


ทั้งนี้ จากคดีนี้ทำให้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เริ่มทบทวนแนวทางที่จะทำให้ทางม้าลาย เป็นพื้นที่ปลอดภัย ฝั่งกองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้เปิดเผยข้อมูลว่า ในปี 2564 สามารถจับดำเนินคดีผู้ไม่หยุดรถในทางข้ามได้ 1,746 คน และมีอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับคนเดินเท้า 720 คน


สอดคล้องกับข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ในจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ประมาณ 6-8 เปอร์เซนต์ เป็นคนเดินถนน หรือประมาณ 800-1,000 ราย ต่อปี แต่ข้อมูลที่รวบรวมจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าคนเดินถนนประสบเหตุมากถึง 2,500 - 2,800 รายต่อปี และ 1ใน 3 อยู่ในกรุงเทพมหานคร


ซึ่งข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ย้อนหลังไป 10 ปี จะเห็นว่า สถิติคนเดินเท้าเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ แม้จะมีจำนวนลดลง อย่างในปี 2561 จำนวน 571 ราย , ปี 2562 จำนวน 438 ราย ปี 2563 จำนวน 355 ราย และ ตั้งแต่มกราคมถึงกันยายน 2564 เพียง 9 เดือน เสียชีวิตไป 241 ราย


แต่ถ้ารวมผู้บาดเจ็บ นับตั้งแต่ปี 2559 ถึงเดือนกันยายน 2564 รวม 5 ปี 9 เดือน ผู้คนเดินเท้าบาดเจ็บถึง 224,068 คน หรือปีละกว่า 41,000 คน และเกือบครึ่งหนึ่งของคู่กรณีที่เป็นเหตุให้เคนเดินเท้าบาดเจ็บ คือ รถจักรยานยนต์


นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ ระบุว่ากรณีรถยนต์ชนคนข้ามถนนที่ทางม้าลาย เกิดขึ้นมาต่อเนื่อง และเมื่อปี 2561 มูลนิธิเมาไม่ขับ เคยส่งข้อเสนอที่ได้จากการจัดสัมมนา เสนอต่อรัฐบาล ให้เพิ่มโทษคนที่ขับชนคนบนทางม้าลาย ให้มากกว่าโทษการขับขี่โดยประมาท ตามกฎหมายปกติ เพราะทางมาล้ายถูกกำหนดแล้วว่า เป็นทางที่ต้องให้สิทธิ์คนข้ามถนนก่อน โดยให้รถยนต์ผ่านทีหลังเมื่อคนข้ามไปหมดแล้ว แต่สถานการณ์ปัจจบุันกลายเป็น คนข้ามถนนต้องรอใหรถผ่านให้หมด จึงจะข้ามทางม้าลายได้ ดังนั้นผู้ขับขี่ชนคนบนทางม้าลาย จึงควรต้องได้รับโทษหนักกว่ากรณีปกติ



---ปล่อยเสียง + Ins 4 ---

CG.นพ.แท้จริง ศิริพานิช // เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ



ข้อเสนอดังกล่าว ของมูลนิธิไม่ถูกตอบรับ กระทั่งล่าสุด นายแพทย์แท้จริงเสนอ ให้คนในสังคมลุกขึ้นทวงสิทธิ์ทางม้าลาย โดยใช้โซเชียลมีเดีย เป็นเครื่องมือเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม โดยการบันทึกภาพทุกครั้งก่อนข้ามทางม้าลาย แล้วนำคลิปภาพคนที่มีน้ำใจ ไปเผยแพร่ชื่นชมในโลกออนไลน์ วิธีนี้ไม่ใช่การละเมิดสิทธิ์คนขับรถ แต่เป็นการทวงสิทธิ์คนข้ามถนนบนทางม้าลาย

คุณอาจสนใจ