อ.นิติฯจุฬาฯ ชี้ อ้าง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คุมเฟกนิวส์ ขัดรัฐธรรมนูญ

สังคม

อ.นิติฯจุฬาฯ ชี้ อ้าง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คุมเฟกนิวส์ ขัดรัฐธรรมนูญ

โดย kodchaporn_j

29 ก.ค. 2564

530 views

เฟซบุ๊กส่วนตัว ของ อาจารย์พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์นิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึง "เสรีภาพสื่อ" และ "เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น" เมื่อเกิดกรณี รัฐบาลเตรียมจัดการดำเนินคดีกับผู้ปล่อยข่าวเฟกนิวส์ โดยอ้าง ข้อกำหนดฉบับที่ 27 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ระบุว่า อีกทั้งยังกล่าวว่า ข้อกฎหมายที่ยกมาอ้างนี้ นายกฯ น่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เสียด้วย โดยระบุว่า


"เสรีภาพสื่อ" (Freedom of the Press) และ "เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น" (Freedom of Opinion) ถือเป็น "สิทธิขั้นพื้นฐาน" (Fundamental Right) ของประชาชนและสังคมประชาธิปไตยที่รัฐธรรมนูญรับรองและคุ้มครอง จริงอยู่ว่าแม้เสรีภาพดังกล่าวอาจถูกจำกัดได้ในบางกรณี แต่ไม่ได้หมายความว่า รัฐจะสามารถเข้าไปจำกัดได้ตามอำเภอใจ


กรณีที่ท่านนายกฯ อ้างถึงข้อกำหนดฉบับที่ 27 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (หรือแม้แต่ฉบับที่ 29) เพื่อให้หน่วยงานของรัฐต่างๆ ดำเนินคดีกับผู้เผยแพร่เฟกนิวส์ (Fake news) ผมเห็นว่าน่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายด้วยเหตุผลอย่างน้อยดังนี้


1. ด้วยความไม่ชัดเจนและคลุมเครือตั้งแต่ต้นว่าอะไรคือ เฟกนิวส์ (Fake news) การให้ "รัฐแต่ผู้เดียว" เป็นผู้ชี้ว่ากรณีนั้นๆ เป็นเฟกนิวส์หรือไม่อย่างไร จึงเป็นการเปิดโอกาสให้รัฐใช้อำนาจเข้าไปกำหนดเนื้อหาของการแสดงออก (Content-based restriction) ของสื่อและประชาชน อันเป็นการจำกัดเสรีภาพของสื่อและประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ ม.26 อย่างชัดเจน


2. การนำเสนอข่าวของสื่อ และการแสดงความคิดเห็นของประชาชนต่อการทำงานของรัฐบาลย่อมทำได้เสมอตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ ตราบใดที่ไม่ได้มีเจตนาร้าย (actual malice) เพราะการใช้เสรีภาพดังกล่าวอยู่บนหลักการใช้เสรีภาพเพื่อประโยชน์สาธารณะ (Public interest) ในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลที่อาสาเข้ามาบริหารประเทศแทนประชาชน


3. ตามหลักกฎหมายแล้ว สื่อและประชาชนย่อมไม่มีความผิดกรณีเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ หากขณะที่โพสต์พวกเขาเหล่านั้นไม่ทราบว่าข้อมูลที่กำลังเผยแพร่เป็นเฟกนิวส์ ซึ่งนั่นหมายความว่า สื่อและประชาชน "ไม่มีเจตนา" ที่จะเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ


4. "ข่าวจริง" หรือ "ข่าวปลอม" หาใช่รัฐบาลเป็นผู้ผูกขาดตัดสินแต่เพียงฝ่ายเดียว ประชาชนต้องเป็นผู้ตัดสินใจเองที่จะเลือกเชื่อหรือไม่เชื่อในสังคมที่มีการนำเสนอข้อมูลข่าวสารต่างๆ (Marketplace of ideas) ของสื่อสารมวลชน สิ่งที่รัฐบาลควรทำก็คือ การอธิบายชี้แจงข้อเท็จจริงกับสื่อและประชาชนมากกว่าการมุ่งดำเนินคดี


5. ต่อให้จะดำเนินคดีกับสื่อและประชาชนจริง ผมก็เห็นว่าการลงโทษของรัฐตามข้อกำหนดที่อ้างอิง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ น่าจะขัดกับรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ เป็นบทลงโทษที่รุนแรงมากเกินกว่าเหตุหากพิจารณากับการกระทำความผิด (Disproportionate) (มีจำคุกไม่เกิน 2 ปี ด้วย)


6. หากมีการบังคับใช้ข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่มีลักษณะเป็นการล่วงละเมิดเสรีภาพในการนำเสนอข่าว หรือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของสื่อและประชาชน ทั้งๆ ที่การใช้เสรีภาพของพวกเขาบน "ความสุจริต" ไม่มีเจตนามุ่งร้าย หรือเจตนาที่จะเผยแพร่เฟกนิวส์ตามที่ผมได้กล่าวไปข้างต้นในข้อ 1-5 ย่อมถือว่า รัฐใช้อำนาจไปโดยขัดต่อรัฐธรรมนูญ (Unconstitutional) รวมถึงขัดต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (Illegal) เสียเอง ซึ่งอาจต้องรับผิดทั้งในทางแพ่ง อาญา หรือทางวินัย และไม่สามารถยก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาเป็นเหตุเพื่อยกเว้นความรับผิดได้

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ