ยันชัด! ไม่มี "นายกพระราชทาน" ตามรธน. ถ้า 'ประยุทธ์' ลาออก ต้องเลือกใหม่จากแคนดิเดตเดิม

เลือกตั้งและการเมือง

ยันชัด! ไม่มี "นายกพระราชทาน" ตามรธน. ถ้า 'ประยุทธ์' ลาออก ต้องเลือกใหม่จากแคนดิเดตเดิม

โดย pattraporn_a

26 ก.ค. 2564

2.9K views

หลังเกิดกระแสไม่เอานายกรัฐมนตรีพระราชทาน ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ เมื่อคืนนี้ ทำให้มีการตั้งคำถามถึงที่มานายกรัฐมนตรี และความเป็นไปได้ทางการเมือง หลังมีการเรียกร้องให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก จะต้องมีการเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ แต่ตามกฏหมายรัฐธรรม มีเพียงการเปิดช่องให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอก ที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอ แต่ไม่ได้กำหนดให้มีนายกรัฐมนตรีพระราชทาน ซึ่งเกิดขึ้นได้จะต้องฉีกรัฐธรรมนูญเท่านั้น


จากกระแสแฮชแทกไม่เอานายกพระราชทาน ที่ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ จนมีการตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ทางการเมือง ข่าว 3 มิติ พูดคุยกับ รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เห็นว่าเป็นภาพสะท้อนความไม่ไว้วางใจในกระบวนการรัฐสภาที่จะหาผู้นำคนใหม่ที่ยอมรับได้ แต่ในความเป็นจริง หากรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ยังบังคับใช้อยู่ ไม่สามารถมีนายกรัฐมนตรีพระราชทานได้ เพราะไม่มีบทบัญญัติไว้ นอกจากการมีนายกรัฐมนตรีคนนอก ที่เปิดช่องไว้ในมาตรา 272 (2) แต่จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี


สำหรับ 5 ขั้นตอนที่ รศ.ดร.สิริพรรณ ระบุไว้ตามรัฐธรรมนูญ หากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี จะต้องเปิดให้มีการประชุมรัฐสภา เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีในบัญชีพรรคการเมือง ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 5 รายชื่อ จากพรรคการเมือง ที่มีเสียงเกิน 5 เปอร์เซ็นต์ คือ พรรคเพื่อไทย ทีมีชื่อ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ , นายชัยเกษม นิติศิริ และ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ โดยคุณหญิงสุดารัตน์ ลาออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไทย ไปเป็นประธานพรรคไทยสร้างไทยแล้ว


ขณะที่พรรคภูมิใจไทย มีชื่อ นายอนุทิน ชาญวีรกูล และพรรคประชาธิปัตย์ มีชื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งคนที่ได้รับเลือกต้องมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา คือมากกว่า 375 เสียง หากไม่ถึง ต้องเข้าสู่ขั้นตอนที่ 2 ที่ใช้เสียงรัฐสภาเกินกึ่งหนึ่ง เสนอปลดล็อก และต้องใช้เสียงอีก 2 ใน 3 หรือ 500 เสียงของรัฐสภา เห็นชอบให้เสนอชื่อบุคคลนอกบัญชี ก่อนให้ ส.ส.เสนอชื่อ ให้รัฐสภาเลือกด้วยเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใช้เวลามาก


ส่วนทางเลือกในการยุบสภา ไม่น่าจะเป็นไปได้เพราะต้องเลือกต้ังใหม่ภายใน 45-60 วันในสถานการณ์โควิด-19 จึงไม่น่าจะมีการเลือกทางนี้ ส่วนการให้พลเอกประยุทธ์ ลาออก ก็ต้องอยู่ในสถานการณ์การเมืองที่สุกงอม และต้องมีสัญญานทางการเมืองที่ต้องตกลงกันไว้แล้ว


กระแสเรียกร้องผ่านแฮชแทกในทวิตเตอร์ ไม่เอานายกรัฐมนตรี จึงเป็นเสียงสะท้อนของประชาชนแม้จะไม่ยอมรับที่มาของนายกรัฐมนตรีที่ยังมีเสียง ส.ว.มาเป็นบทบาทสำคัญ

คุณอาจสนใจ

Related News