หลายฝ่ายวิจารณ์หนัก 'ธรรมนัส' รอดคดี นั่งรมต.ต่อ ฝ่ายค้านไม่ปล่อย เดินหน้าร้องป.ป.ช.ฟันอีกรอบ

เลือกตั้งและการเมือง

หลายฝ่ายวิจารณ์หนัก 'ธรรมนัส' รอดคดี นั่งรมต.ต่อ ฝ่ายค้านไม่ปล่อย เดินหน้าร้องป.ป.ช.ฟันอีกรอบ

โดย panwilai_c

6 พ.ค. 2564

77 views

คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ให้ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า ไม่พ้นจากตำแหน่ง สส.และตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวานนี้ ก่อให้เกิดความเห็นที่หลากหลาย ทั้งจากฝ่ายการเมือง และนักวิชาการด้านกฎหมาย ที่ยกความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎากีในอดีต มาเทียบเคียง โดยเฉพาะประเด็นว่าคำตัดสินจำคุกของศาลต่างประเทศ ไม่ผูกพันธ์กับรัฐไทย ซึ่งนักวิชาการมองว่าจะเป็นบรรทัดฐานใหม่ของสังคมในอนาคตหรือไม่ 0


ทันทีที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า ไม่ขาดคุณสมบัติจากความเป็นสส. และรัฐมนตรี แม้เคยถูกศาลแขวงรัฐนิวซ์เวล์ออสเตรเลีย ตัดสินจำคุกคดีค้ายาเสพติดประเภทเฮโรอีน ด้านหนึ่ง ทำให้ร้อยเอกธรรมนัส เดินหน้าทางการเมืองต่อไปอีกด้านหนึ่งก็เกิดข้อถกเถียงที่หลากหลาย


โดยเฉพาะประเด็นจากคำพิพากษา ส่วนหนึ่งระบุว่าคดียาเสพติดของร้อยเอกธรรมนัส เป็นการกระทำผิดในต่างประเทศ ร้อยเอกธรรมนัสถูกพิพากษาลงโทษจริง แต่ไม่ใช่คำพิพากษาของศาลไทย และคำพิพากษาตามรัฐธรรมนูญไทย หมายถึงคำพิพากษาศาลไทยเท่านั้น


ประเด็นนี้ถูกถกเถียง เทียบเคียงกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฏีกาเมื่อปี 2525 ที่ให้ความต่อเห็นกระทรวงมหาดไทย กรณีลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะลงรับสมัครเป็นสส. ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 โดยระบุตอนหนึ่งว่า ถ้าข้อเท็จจริงปรากฎว่าบุคคลใดเคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายไม่ว่าในหรือต่างประเทศ ตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป โดยพ้นโทษมาไม่ถึง 5 ปี ในวันเลือกตั้ง ถือว่าเป็นผู้มีลักษณะต้องห้าม ซึ่งการกำหนดว่าเป็นโทษทั้งในและต่างประเทศ เพื่อไม่ให้เกิดความลักลั่น


อย่างไรก็ตาม ก็มีผู้เผยแพร่ความเห็นคณะกรรมการกฤษฏีกาปี 2554 ที่มีแนวคำวินิจฉัยใจความสำคัญว่าคำตัดสินเมื่อวาน ยึดหลักการใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐ ซึ่งหน้าที่ 2 ย่อหน้าที่ 4 มีใจความสำคัญว่า "กรณีที่บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกล่าวถึงคําสั่งหรือคําพิพากษาของศาล ย่อมหมายถึงคําสั่งหรือคําพิพากษาของศาลไทยเท่านั้น ไม่อาจตีความให้รวมถึงคําสั่งหรือคําพิพากษาของศาลต่างประเทศได้เพราะจะขัดกับหลักการใช้อํานาจอธิปไตยของรัฐ"


อย่างไรก็ตาม นักวิชาการอย่าง รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก ใจความส่วนหนึ่งว่า "การใช้เหตุผลในเชิงชาตินิยมที่มีน้ำหนักเบาบางเพื่อปิดกั้นคำพิพากษาศาลต่างประเทศ เป็นการละทิ้งโอกาสอย่างน่าเสียดายในการหักล้างข้อสงสัยของสาธารณชนที่มีต่อเจตนารมณ์ที่แท้จริงของบทบัญญัติว่าคนที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรควรมีคุณสมบัติแบบใด เป็นข้อสงสัยที่ไม่ต้องใช้เหตุผลทางกฎหมายที่ซับซ้อน แต่ใช้เพียงแค่เหตุผลธรรมดาสามัญก็สามารถตอบได้


ส่วนคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นเช่นกันว่า ประเด็นที่ไม่ได้ถูกเอ่ยถึง คือเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้ได้บุคคลไร้มลทินมาทำหน้าที่ทางการเมือง รวมถึงพันธกรณีของไทยต่อปัญหายาเสพติดที่พึงมีต่อนานาชาติ ซึ่งคดีดังกล่าวเกี่ยวเนื่องกับยาเสพติดที่เป็นความผิดสากล แต่ไม่ได้ถูกระบุถึงในแง่พฤติการณ์


ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ระบุว่าร้อยเอกธรรมนัส พ้นโทษมาเกิน 5 ปี จึงถือว่าไม่ขาดคุณสมบัติ ซึ่งทางกฎหมายสิ้นสุดแล้วตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนเรื่องจริยธรรม หรือความเหมาะสม แล้วแต่จะวิจารณ์ นายวิษณุ ยังระบุว่านี่เป็นคำวินิจฉัยที่ใช้เป็นบรรทัดฐานกับทุกคน ทุกกรณี ไม่ใช่เฉพาะกรณียาเสพติด แต่นี่ไม่ใช่การล้างมลทิน


ส่วนรองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เลี่ยงที่จะตอบคำถามสื่อมวลชน ต่อกรณีความเหมาะสมในตำแหน่งดังกล่าวของ ร้อยเอกธรรมนัส โดยกล่าวแต่เพียงว่า เป็นเรื่องของศาล ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล


ขณะที่พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธิ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ระบุว่าจะใช้ดำเนินการในฐานะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ยื่นต่อปปช.เพื่อเอาผิดด้านจริยธรรมต่อ ร้อยเอกธรรมนัส และ พลเอกประยุทธ์ ฐานรับผิดชอบแต่งตั้งผู้มีลักษณะต้องห้ามให้ดำรงตำแหน่ง เช่นเดียวกับ นายชัยธวัธ ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกลระบุว่าจะเดินหน้ายื่นคำร้องต่อปปช. เอาผิดจริยธรรม เพราะคำให้การในคำพิพากษาระบุชัดว่า เกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยระบุว่าจะเร่งดำเนินการก่อนเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรปลายเดือน

คุณอาจสนใจ

Related News